“นอกจากกษัตริย์จะมีบทบาทที่สำคัญในการสถาปนาและกอบกู้เอกราชปกป้องบ้านเมืองแล้วชาวบ้านธรรมดาก็ยังมีบทบาทสำคัญในการปกป้องบ้านเมืองเช่นกันวันนี้ดาวเรืองจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับวีรชนกลุ่มหนึ่งที่มีชื่อว่า
ชาวบ้านบางระจัน”
พ.ศ ๒๓๐๘
เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ หรือ พระเจ้าบรมโกศ เสด็จสวรรคตในปีพ.ศ.
๒๓๐๑ทรงมอบราชสมบัติให้สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ หรือพระนามที่เรามักเรียกว่า
กรมขุนพรพินิต แต่เมื่อครองราชสมบัติได้ ๑๐
วันก็ทรงถวายราชสมบัติให้แก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี ซึ่งเป็นพระเชษฐาธิราชของกรมขุนพรพินิต
ทรง พระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ หรือที่เรียกกันว่า
สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศอมรินทร์ หรือสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ
สมเด็จพระเจ้าเอกทัศมิได้ทรงพระปรีชาสามารถในงานการปกครองบ้านเมือง
พระอุปนิสัยส่วนพระองค์ก็ไม่ทรงเข้มแข็งเด็ดขาด
ซึ่งเป็นคุณสมบัติอันจำเป็นที่พระเจ้าแผ่นดินจะพึงมีทำให้บรรดาข้าราชบริวาร
และเหล่าเจ้านายทั้งหลายเกิดความระส่ำระส่าย ต่างคิดเอาใจออกห่าง
ทั้งแบ่งพรรคแบ่งพวกไม่เกิดความสามัคคีในหมู่ราชการ ไม่เต็มใจปฏิบัติงานราชการ
ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๓๐๒ พระเจ้าอลองพญามังลอง และมังระราชบุตร ยกกองทัพมาตีเมืองทวาย
มะริด และตะนาวศรีซื่งเป็นของไทยในสมัยนั้น( ปัจจุบันเมืองทั้ง ๓
เป็นเมืองของสหภาพพม่าอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของไทยใกล้จังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี
และประจวบคีรีขันธ์ ) สมเด็จพระเจ้าเอกทัศโปรดให้กองทัพไทย ออกไปป้องกันถึง ๓ กองทัพ
แต่ก็แตกพ่ายกลับพระนครทั้งสิ้น
ทางฝ่ายพม่าเมื่อเห็นไทยแตกพ่ายก็ได้ใจเร่งยกทัพล่วงเข้ามาในเขตไทย
จนกระทั่งมาตั้งทัพหลวงที่เมืองสุพรรณบุรี
ครั้งนั้นบรรดาข้าราชการและราษฎรต่างพากันไปกราบทูลวิงวอน
เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตให้ทรงลาผนวชออกมาช่วยป้องกันรักษาพระนคร เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตทรงลาผนวชออกมารักษาพระนครให้แข็งขันกว่าเดิม
ทรงส่งกองทัพออกไปตั้งรับข้าศึก ถึงกระนั้นก็ตามกองทัพไทยก็แตกพ่ายทุกทัพ
ด้วยข้าราชการมิได้ปฎิบัติราชการสงครามอย่างแท้จริง
พม่าสามารถยกเข้าถึงชานกรุงศรีอยุธยา ใชัปืนใหญ่ระดมยิง พระราชวัง เผอิญพระเจ้าอลองพญามังลอถูกรางปืนแตกต้องพระองค์ประชวร
กองทัพพม่าจึงจำต้องยกกลับไป ซึ่งต่อมาพระเจ้าอลองพญามังลอก็ถึงแก่สวรรคต
มังลอราชบุตรขึ้นเป็นกษัตริย์ในปี พ.ศ. ๒๓๐๗
พระเจ้ามังละเห็นว่าครั้งที่แล้วต้องยกทัพกลับเพราะพระเชษฐาประชวร
จึงยังตีกรุงศรีอยุธยาไม่แตก จำต้องยกทัพไปอีกครั้ง ปี พ.ศ. ๒๓๐๘
พระเจ้ามังระมีบัญชาให้มังมหานรธาเป็นแม่ทัพใหญ่นำไพร่พล๑๕,๐๐๐ คนยกทัพเข้ามาทางใต้
ส่วนทางเหนือให้เนเมียวสีหบดีเป็นแม่ทัพใหญ่นำไพร่พลประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน เคลื่อนกองทัพออกจากเมืองเชียงใหม่
กองทัพของมังมหานรธายกมาทางใต้เข้าตีเมืองทวายเมื่อตีได้แล้ว
ก็เลยไปตีเมืองมะริดและเมืองตะนาวศรีของไทยด้วย พม่าได้ใจยกล่วงต่อไปทางเมืองกระ
พม่าเผาเมืองชุมพร ตีเมืองปะทิวเมืองกุย ตลอดจนถึงปราณ แตกทั้ง ๓ เมือง
มังมหานรธาส่งทัพหน้าเข้ามาทางกาญจนบุรีในเดือน ๗
ปีนั้นปะทะกับกับทัพพระยาพิเรนทรเทพ ที่ตั้งรอทัพพม่าอยู่ แต่ทัพไทยแตกพ่าย
พม่ายกทัพเข้ามาตั้งค่ายอยู่ที่ตำบลบ้านลูกแก
ฆ่าฟันลูกค้าที่มาจอดเรืออยู่แถบนั้นล้มตายเป็นอันมาก จากนั้นได้เข้ามาตั้งค่าย ณ
ตอกระออมและดงรังหนองขาว ให้ไพร่พลต่อเรือรบเรือไล่อยู่ ณ ที่นั้น
แล้วจัดทัพแยกไปตีเมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี
ด้านเนเมียวสีหบดียกทัพจากทางเหนือเคลื่อนลงใต้ตีหัวเมืองต่างๆลงมา
ทางกรมการเมืองเหนือมีใบบอกลงมาว่า
ทางเหนือเนเมียวสีหบดีส่งทัพหน้าลงมาตั้งที่กำแพงเพชร ทำการต่อเรือรบ
เรือลำเลียงพลตลอดจนสะสมเสบียงอาหาร สมเด็จ พระเจ้าเอกทัศโปรดให้เจ้าพระยาพิษณุโลก
ยกทัพไปตีข้าศึกในเดือน ๗
ทัพหน้าของพม่าก็ยกมาจากกำแพงเพชรมาตั้งค่ายที่เมืองนครสวรรค์ เดือน ๑๑
เนเมียวสีหบดียกจากเชียงใหม่มาทางด่านสวรรคโลก ตีเมืองต่างๆ เรื่อยมาจนถึงสุโขทัย
ได้เมืองสุโขทัยแล้วตั้งทัพมั่นอยู่ในเมือง เจ้าพระยาพิษณุโลกยกทัพไปช่วย
แต่เกิดเหตุจลาจลที่เมืองพิษณุโลก
เจ้าพระยาพิษณุโลกจึงจำต้องยกทัพกลับไปจัดการบ้านเมือง
เนเมียวสีหบดีรบกับไทยที่เมืองสุโขทัยจนถึงเดือนยี่
จึงได้ยกไปสมทบกับทัพหน้าที่กำแพงเพชร
ในระยะแรกที่ฝ่ายไทยได้ทราบข่าวการรุกรานของพม่าและต่างเห็นว่าพม่าต้องยกมาตีไทยแน่นอน
จึงได้ตระเตรียมทัพไว้เพื่อรับมือ
แต่การวางแผนรับมือทัพพม่ากลับเป็นไปโดยผิดพลาดอย่างมหันต์ ตำราพิชัยสงครามโบราณ
มักจะกล่าวไว้ในบทที่ว่าถึงความตื้นลึกหนาบางว่า " ให้ศัตรูเป็นฝ่ายเปิดเผย
ส่วนเราไม่สำแดงร่องรอยให้ประจักษ์ กระนี้ฝ่ายเรารวม แต่ศัตรูแยก เรารวมเป็นหนึ่ง
ศัตรูแยกเป็นสิบ เท่ากับเราเอาสิบเข้าตีหนึ่ง เมื่อกำลังฝ่ายเรามากแต่ศัตรูน้อย
การที่เอากำลังมาจู่โจมกำลังน้อย สิ่งที่เราจะจู่โจมกับข้าศึกก็ง่ายดาย "
การตั้งรับของกองทัพไทยที่วางแผนไว้รับมือทัพพม่านั้น
กลับทำในทางตรงกันข้ามกับหลักในพิชัยสงคราม โดยไทยเราให้แยกกองทัพออกไปรักษาพระนครโดยรอบทิศตามหัวเมืองต่างๆ
ทำให้กำลังในแต่ละกองลดน้อยลงมีรายละเอียดพอจะสรุปได้ ตามนี้คือ ขั้นแรก
ให้เกณฑ์ทหารออกไปรักษาด่าน แบ่งกองทัพเรือออกเป็น ๙ กอง ๆละ ๒๐ ลำ
ในแต่ละกองมีกำลังไพร่พลทหารประจำกองละ ๑,๔๐๐ คน
พร้อมด้วยเครื่องศาสตราวุธ ให้นำเรือรบไป ๑ ลำ มีปืนใหญ่ ๑ กระบอก ปืนขนาดเล็ก ๑
กระบอก แล้วแบ่งไปประจำที่ต่าง ๆ ดังนี้ ๑ ให้พระราชสงกรานต์
ไปตั้งรับทัพพม่าทางปากน้ำเจ้าพระยา ๒ ให้ศรีภูเบศร์
ไปตั้งรับพม่าทางเมืองพรหมบุรี ๓ ให้หม่อมทิพยุพันไปตั้งรับพม่าทางเมืองพรหมบุรี ๔
ให้หม่อมเทไพ ไปตั้งรับพม่าทางเมืองอินทร์บุรี ๕ ให้หม่อมมหาดเล็กวังหน้า
ไปตั้งรับพม่าทางแม่น้ำเมืองสิงห์บุรี ๖ ให้หลวงศรียุทธ
ไปตั้งรับพม่าทางปากน้ำหิงสา ๗ ให้ศรีวรข่าน ไปตั้งรับพม่าทางปากน้ำประสบ ๘
ให้พระยาจุหล่า (แขก) ไปตั้งรับพม่าทางปากน้ำพระประแดง (พระมะดัง) ๙ ให้หลวงหรทัยคุมออกไปตั้งรับพม่าทางปากน้ำลำทอง
ขั้นที่สอง สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ทรงมีรับสั่งให้จัดกองทัพไปตั้งรับกองทัพพม่า
แต่ละทัพห่างไกลกันออกไปเป็นจุดต่างๆ กันดังนี้ กองทัพที่ ๑ ให้พระยาพิพัฒน์โกษา
เป็นแม่ทัพใหญ่คุมกองทัพ ๑๓ กอง แต่ละกองมีกำลัง ๑,๐๐๐ คน
มีช้างคลุมเกราะเหล็ก ๑๐ เชือก ช้างเชือกหนื่งมีปืนใหญ่ขนาดเล็ก ๒ กระบอก
มีควาญหัว ๑ คน กลาง ๑ คน ท้ายช้าง ๑ คน มีพลทหารถือทวนตามช้างอีกข้างละ ๑๐๐ คน
ให้ไปตั้งรับพม่าที่เมืองมะริด เมืองตะนาวศรี กองทัพที่ ๒ ให้พระยาเพชรบุรี
เป็นแม่ทัพใหญ่ คุมกองทัพ ๑๑ กองแต่ละ กองจัดกำลังเหมือนกองทัพที่ ๑
ให้ไปตั้งรับพม่าทางเมืองสวรรคโลก กองทัพที่ ๓ ให้ศิริธรรมราชา เป็นปลัดทัพ
ให้พระยาพิพัฒน์โกษาเป็นแม่ทัพคุมกองทัพ ๗ กองอีกทางหนึ่ง
เพราะอยู่ในเขตใกล้เคียงกัน ให้ไปตั้งที่ตำบลท่ากระดานเขตแดนเมืองกาญจนบุรี
กองทัพที่ ๔ ให้เจ้าพระยากลาโหม คุมกองทัพ ๑๕ กอง
การจัดกำลังกองทัพจัดแบบเดียวกับกองทัพที่ ๑ ให้ไปตั้งรับทัพพม่าทางเมืองราชบุรี
กองทัพที่ ๕ ให้พระยาธิเบศร์ เป็นแม่ทัพ คุมกองทัพ ๑๔ กอง
การจัดกำลังกองทัพเหมือนกองทัพที่ ๑ ให้ไปตั้งรับพม่าทางเมืองราชบุรี
การที่ทางกรุงศรีอยุธยาได้จัดเตรียมการป้องกัน
พระนครและเตรียมสู้รบพม่าโดยจัดแบ่งออกเป็นกองย่อยๆ มากมายและแยกไปตามจุดต่างๆ
โดยกองทัพพม่ายกมาจริงๆ เพียงสองทางเท่านั้น
ดังนั้นกองทัพไทยที่ไปอยู่อีกหลายจุดที่กองทัพพม่ามิได้เคลื่อนทัพผ่าน
จึงไม่ได้สู้รบกับพม่าเป็นการสูญเสียกำลังไปโดยปราศจากประโยชน์ ส่วนทางด้านที่กองทัพพม่าเคลื่อนผ่านมา
ปะทะกับกองทัพไทยแต่ฝ่ายเรามีน้อยกว่าเพราะได้กระจายกำลังไปตามจุดต่างๆ
คือเปรียบดังเอา ๑ เข้าสู้กับ ๑๐ ซึ่งแทนที่จะเอากำลัง ๑๐ ส่วนเข้าทำลายกำลัง ๑
ส่วน ฝ่ายกองทัพไทยน้อยกว่าย่อมยากแก่การที่จะเอาชนะ เหตุนี้น่าจะเป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้ไทยต้องเสียกรุงเป็นครั้งที่
๒ แล้วผลการรบเป็นไปตามที่ได้คาดไว้ ทัพไทยพ่ายศึกในแทบทุกทางที่ปะทะกับกองทัพพม่า
ทำให้กองทัพพม่ารุกคืบหน้าเข้ามาทุกที
และแล้วกรุงศรีอยุธยาก็ตกอยู่ในวงล้อมกองทัพพม่า
ในขณะที่กองทัพพม่ากำลังตั้งค่ายขยายวงล้อมกรุงศรีอยุธยา ในด้านเหนือมีทัพของเนเมียวสีหบดียกเข้ามาตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่
ตำบลวัดป่าฝ้าย ปากน้ำพระประสบ ทัพของมังมหานรธาที่ยกมาทางใต้มาตั้งค่ายใหญ่ที่
ตำบลสีกุก พระเจ้ามังระส่งทัพหนุนเข้ามาอีก คือ สุรินทรจอข่อง มณีจอข่อง มหาจอข่อง
อากาปันยี ถือพลพันเศษยกมาทางเมาะตะมะ เดินทัพเข้ามาทางอุทัยธานีมาตั้งค่ายอยู่แชวงเมืองวิเศษชัยชาญ
ในเดือนยี่ พ.ศ. ๒๓๐๘ พระยาเจ่งตละเสี้ยง ตละเกล็บ
คุมพลรามัญจากเมาะตะมะประมาณสองพันเศษเข้ามาทางกาญจนบุรีมาถึงค่ายตอกระออม
แล้วยกทัพเรือหนุนเข้ามาตั้งค่ายอยู่ ณ ขนอนวัดโปรดสัตว์ จากสภาพการณ์จะเห็นได้ว่าทัพพม่าเข้าประชิดชานพระนครกำลังโอบล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้เกือบจะรอบอยู่แล้ว
ในช่วงนี้เองที่เกิดวีรกรรมของชาวบ้านบางระจันการต่อสู้ระหว่างกองทัพพม่ากับชาวบ้านธรรมดาโดยลำพัง
ซึ่งเป็นชาวบางระจันรวมตัวกับชาวเมืองใกล้เคียงอันได้แก่ ชาวเมืองวิเศษชัยชาญ
เมืองสิงห์บุรี เมืองสรรค์บุรี เ ป็นวีรกรรมของพลเมืองธรรมดาที่ลุกขึ้นต่อสู้
การรุกรานอันกดขี่ของพม่า พวกเขาเหล่านั้นต่อสู้กับความอยุติธรรม
ความโหดเหี้ยมของผู้รุกราน
ซึ่งทั้งปล้นชิงทรัพย์สินหญิงสาวถูกข่มขืนและนำไปเป็นนางบำเรอ ปล้นบ้านเผาเมือง
ทำลายไร่นาเก็บเอาผลผลิตไปหมดสิ้น ใครขัดขวางจะถูกฆ่า
จับผู้คนกวาดต้อนไปเป็นเชลยเพื่อใช้แรงงานเป็นทาส
ความเดือดร้อนเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า แผ่นดินแทบลุกเป็นไฟ
อิสรภาพกำลังถูกคุกคามจากน้ำมือผู้รุกราน ผู้ที่จะทำให้ไทย ที่"ไท" ชึ่ง
หมายความว่า ผู้ยิ่งใหญ่ ต้องแปดเปื้อนอีกครั้ง ราชการบ้านเมืองก็อ่อนแอจะหาผู้ใดมาปกป้องก็หาได้ไม่
จนเหลือกำลังสุดที่จะทนต่อไปได้อีก
เหตุการณ์อันเป็นวีรกรรมที่ประวัติศาสตร์ไทยต้องจารึกถึงความกล้าหาญ ความสามัคคี
การยอมสละชีพเพื่อต่อต้านข้าศึก
ไม่ก้มหัวให้ศํตรูที่ได้กระทำโดยชาวบ้านธรรมดาอันปราศจากกองทัพใดๆ เข้าช่วยเหลือ
วีรกรรมของชาวบ้านบางระจันเริ่มขึ้นเมื่อ เนเมียวสีหบดีแม่ทัพพม่าที่เคลื่อน
ทัพมาจากทางเหนือได้ส่งทหารกองหนึ่งออกลาดตระเวน
กวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินทางเมืองวิเศษชัยชาญ เท่านั้นยังไม่พอ
หากพบว่าบ้านใดมีลูกสาวก็เรียกเอาตัวด้วยหากไม่ให้ก็ฉุดคร่าเอามา หากต่อสู้ก็ฆ่าทิ้งเสีย
ทำให้คนไทยโกรธแค้นพม่ามากยิ่งขึ้นทนต่อการกระทำของทหารพม่าอีกไม่ได้
จึงแอบคบคิดกันต่อสู้พม่า ในเดือน ๓ ปีระกา พ.ศ. ๒๓๐๘ พวกชาวเมืองวิเศษชัยชาญ
เมืองสิงห์ เมืองสรรค์ และชาวบ้านใกล้เคียง พากันคบคิดอุบายเพื่อล่อลวงพม่า
ทั้งรวบรวมผู้คนไว้เพื่อทำการ
ในบรรดาชาวบ้านที่ร่วมกันอยู่นี้มีหัวหน้าที่สำคัญคือ นายแท่น นายโชติ นายอิน
นายเมือง ชาวบ้านสีบัวทอง แขวงเมืองสิงห์ นายดอก ชาวบ้านกรับ และนายทองแก้ว
บ้านโพทะเล แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ
ชาวไทยเหล่านี้ต่างพากันหลอกลวงพม่าว่าจะนำไปหาทรัพย์สิ่งของที่ต้องการพม่าหลงเชื่อตามไป
ก็ถูกนายโชติซึ่งคุมสมัครพรรคพวกซุ่มอยู่บุกเข้ามาฆ่าฟันพม่าตายประมาณ ๒๐ คน
และชาวบ้านที่ร่วมก่อการก็พาพรรคพวกครอบครัวอพยพหันมาพึ่งพระอาจารย์ธรรมโชติ
ซึ่งมีกิตติศัพท์ว่ามีคุณความรู้ดีเชี่ยวชาญทางวิทยาคมมาก
ต่อมานายแท่นและผู้มีชื่ออื่นๆ ชักชวนชาวบ้านได้อีกประมาณ ๔๐๐
คนเศษพากันมาอยู่ที่บ้านบางระจัน หลังจากนั้นก็ตั้งค่ายขึ้นที่บ้านบางระจัน ๒ ค่าย
คือ ค่ายใหญ่และค่ายน้อย
ทั้งนี้เพื่อป้องกันทหารพม่าที่จะยกติดตามมาพระอาจารย์ธรรมโชติได้ลงตะกรุดประเจียดมงคล
แจกจ่ายชาวค่าย สำหรับป้องกันตัวและเป็นกำลังใจ นอกจากนี้มีคนไทยชั้นหัวหน้าที่เข้ามาร่วมด้วยอีก
๕ คน คือขุนสรรค์ พันเรือง นายทองเหม็น นายจันหนวดเขี้ยว และนายทองแสงใหญ่
รวมหัวหน้าที่สำคัญของค่ายบางระจันครั้งนั้นรวม ๑๑ คน
ท่านเหล่านี้รวมทั้งชาวบ้านอื่นๆ ได้สู้รบกับพม่าถึง ๘ ครั้ง
แม้จะเสียเปรียบด้านอาวุธและกำลังไพร่พลแต่ด้วยความรักชาติ ความสามัคคี
ความกล้าหาญ ตลอดจนความเสียสละ จึงทำให้ได้รับชัยชนะถึง ๗
ครั้งอันเป็นวีรกรรมอันยิ่งใหญ๋ของชาวบ้านบางระจัน
จนได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ดังนี้ ประวัติศาสตร์การรบทั้ง 8 ครั้ง
การรบครั้งที่ ๑ ทหารพม่าที่เมืองวิเศษชัยชาญยกพลมาประมาณ ๑๐๐ เศษ
มาตามจับพันเรืองเมื่อถึงบ้านบางระจัน ก็หยุดอยู่ ณ ฝั่งแม่น้ำ (บางระจัน)
นายแท่นจัดคนให้รักษาค่ายแล้วนำคน ๒๐๐ ข้ามแม่น้ำไปรบกับพม่า
ทหารพม่าไม่ทันรู้ตัวยิงปืนได้เพียงนัดเดียวชาวไทยซึ่งมีอาวุธสั้นทั้งนั้นก็กรูเข้าไล่ฟันแทงพม่าถึงขั้นตะลุมบอน
พลทหารพม่าล้มตายหมดเหลือแต่ตัวนายสองคนขึ้นม้าหนีไปได้
ไปแจ้งความให้นายทัพพม่าที่ค่ายแขวงเมืองวิเศษชัยชาญทราบ
และส่งข่าวให้แม่ทัพใหญ่คือเนเมียวสีหบดี ซึ่งตั้งค่ายใหญ่อยู่ ณ
ปากน้ำพระประสบทราบด้วย การรบครั้งที่ ๒ เนเมียวสีหบดีจึงแต่งให้งาจุนหวุ่น คุมพล
๕๐๐ มาตีค่ายบางระจัน นายแท่นก็ยกพลออกรบ ตีทัพพม่าแตกพ่ายล้มตายเป็นอันมาก
แม่ทัพพม่าได้เกณฑ์ทหารเพิ่มเป็น ๗๐๐ คน ให้เยกินหวุ่นคุมพลยกมาตีค่ายบางระจัน
ทัพพม่าก็ถูกตีแตกพ่ายอีกเป็นครั้งที่ ๒ การรบครั้งที่ ๓
เมื่อกองทัพพม่าต้องแตกพ่ายหลายครั้ง เนเมียวสีหบดีเห็นว่าจะประมาทกำลังของชาวบ้านบางระจันต่อไปอีกไม่ได้
จึงเกณฑ์พลเพิ่มเป็น ๙๐๐ คน ให้ติงจาโบ
เป็นผู้คุมทัพครั้งนี้ชาวบ้านบางระจันมีชัยชนะพม่าอีกเช่นครั้งก่อนๆ การรบครั้งที่
๔ การที่พม่าแพ้ไทยหลายครั้งเช่นนี้ ทำให้พม่าขยาดฝีมือคนไทย จึงหยุดพักรบประมาณ ๒-๓
วัน แล้วเกณฑ์ทัพใหญ่เพื่อมาตีค่ายบางระจัน มีกำลังพลประมาณ๑,๐๐๐ คน ทหารม้า ๖๐ สุรินจอข่องเป็นนายทัพ
พม่ายกทัพมาตั้งที่บ้านห้วยไผ่ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง)
ฝ่ายค่ายบางระจันได้จัดเตรียมกันเป็นกระบวนทัพสู้พม่าคือ นายแท่นเป็นนายทัพคุมพล ๒๐๐
พันเรืองเป็นปีกซ้ายคุมพล ๒๐๐ ชาวไทยเหล่านี้มีปืนคาบศิลาบ้าง
ปืนของพม่าและกระสุนดินดำของพม่า ซึ่งเก็บได้จากการรบครั้งก่อนๆ บ้าง
นอกจากนั้นก็เป็นอาวุธตามแต่จะหาได้ ทัพไทยทั้งสามยกไปตั้งที่คลองสะตือสี่ต้น
อยู่คนละฟากคลองกับพม่า ต่างฝ่ายต่างยิงตอบโต้กันฝ่ายไทยชำนาญภูมิประเทศกว่า
ได้ขนไม้และหญ้ามาถมคลอง แล้วพากันรุกข้ามรบไล่พม่าถึงขั้นใช้อาวุธสั้น
พม่าล้มตายเป็นอันมาก ตัวสุรินทรจอข้องนายทัพพม่า
ขี่ม้ากั้นร่มระย้าเร่งให้ตีกองรบอยู่กลางพล ถูกพลทหารไทยวิ่งเข้าไปฟันตาย ณ
ที่นั้น ส่วนนายแท่นแม่ทัพไทยก็ถูกปืนที่เข่าบาดเจ็บสาหัสต้องหามออกมาจากที่รบ
ทัพไทยกับพม่ารบกันตั้งแต่เช้าจนเที่ยง ต่างฝ่ายต่างอิดโรย
จึงถอยทัพจากกันอยู่คนละฟากคลอง
พวกชาวบ้านบางระจันในค่ายก็นำอาหารออกมาเลี้ยงดูพวกทหาร
ขณะพม่าต้องหุงหาอาหารและมัวจัดการศพแม่ทัพไม่ทันระวังตัว กองสอดแนมของไทยมาแจ้งข่าว
พวกทหารไทยกินอาหารเสร็จแล้วก็ยกข้ามคลองเข้าโจมตีพม่าพร้อมกันทันที
ทหารพม่าแตกพ่ายไม่เป็นกระบวน ที่ถูกอาวุธล้มตายประมาณสามส่วน
และเสียเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์เป็นอันมาก ไทยไล่ติดตามจนใกล้ค่ำจึงยกกลับมายังค่าย
กิตติศัพท์ความเก่งกล้าของชาวบ้านบางระจันแพร่หลายออกไปมีชาวบ้านอื่นๆ
อพยพครอบครัวเข้ามาอาศัยอยู่ในค่ายบางระจันเพื่อขึ้นอีกเป็นลำดับ การรบครั้งที่ ๕
พม่าเว้นระยะไม่ยกมาตีค่ายบางระจันอยู่ประมาณ ๑๐-๑๑ วัน ด้วยเกรงฝีมือชาวไทย
หลังจากนั้นจึงแต่งทัพยกมาอีกครั้งหนึ่ง มีแยจออากาเป็นนายทัพ
คุมทหารซึ่งเกณฑ์แบ่งมาจากทุกค่ายเป็นคนประมาณ ๑,๐๐๐ คนเศษ
พร้อมด้วยม้าและอาวุธต่างๆแต่กองทัพพม่านี้ก็ปราชัยชาวบ้านบางระจันแตกพ่ายไป
การรบครั้งที่ ๖ นายทัพพม่าครั้งที่ ๖ นี้คือ จิกแก ปลัดเมืองทวาย คุมพล ๑๐๐ เศษ
ฝ่ายไทยมีชัยชนะอีกเช่นเคย การรบครั้งที่ ๗ เนเมียวสีหบดีได้แต่งกองทัพให้ยกมาตีค่ายบางระจันอีก
ให้อากาปันคยีเป็นแม่ทัพคุมพล ๑,๐๐๐ เศษ
อากาปันคยียกกองทัพไปตั้ง ณ บ้านขุนโลก ทางค่ายบางระจันดำเนินกลศึกคือ
จัดให้ขุนสรรค์ซึ่งมีฝีมือแม่นปืน คุมพลทหารปืนคอยป้องกันกองทัพม้าของพม่า
นายจันหนวดเชี้ยวเป็นแม่ทัพใหญ่คุมพล ๑,๐๐๐
เศษออกตีทัพพม่าและล้อมค่ายไว้ ทหารไทยใช้การรบแบบจู่โจม
พม่ายังไม่ทันตั้งค่ายเสร็จก็ถูกโอบตีทางหลังค่าย
ทหารพม่าถูกฆ่าตายเกือบหมดเหลือรอดตายเป็นส่วนน้อย
แม่ทัพก็ตายในที่รบครั้งนี้ทำให้พม่าหยุดพักรบนานถึงครึ่งเดือน การรบครั้งที่ ๘
การที่พม่าส่งกองทัพมาปราบค่ายบางระจันถึง ๗ ครั้ง
แต่ต้องแตกพ่ายยับเยินทุกครั้งนั้น ทำให้แม่ทัพใหญ่ของพม่าวิตกมาก
เนื่องจากชาวบ้านบางระจันมีกำลังเข้มแข็งขึ้นทุกที
และทหารพม่าก็พากันเกรงกลัวฝีมือไทย ไม่มีใครอาสาเป็นนายทัพ
ขณะนั้นมีชาวรามัญผู้หนึ่งเคยอยู่เมืองไทยมานาน รู้จักนิสัยคนไทยและภูมิประเทศดี
ได้เข้าฝากตัวทำราชการอยู่กับพม่าจนได้รัยตำแหน่งสุกี้ หรือพระนายกอง
สุกี้เข้ารับอาสาจะขอไปตีค่ายบางระจัน เนเมียวสีหบดีจึงแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพคุมพล
๒,๐๐๐ พร้อมทั้งม้าและสรรพาวุธทั้งปวง สุกี้ดำเนินการศึกอย่างชาญฉลาด
เมื่อเวลาเดินทัพไม่ตั้งทัพกลางแปลงอย่างทัพอื่น ให้ตั้งค่ายรายไปตามทาง ๓ ค่าย
และรื้อค่ายหลังผ่อนไปสร้างข้างหน้าเป็นลำดับ
(เป็นที่น่าสังเกตุว่าการเคลื่อนทัพโดยตั้ง ๓ ค่ายของสุกี้นี้
เป็นวิธีเดียวกับการเดินทัพของกองทัพเล่าปี่ ที่มีขงเบ้งเป็นแม่ทัพในสงครามสามก็ก
ใช้ตั้งรับทัพที่เชี่ยวชาญการรบในท้องที่นั้นๆ น่าจะแสดงให้เห็นว่าสุกี้
ชาวรามัญผู้นี้ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในพิชัยสงครามหรือ
อย่างน้อยต้องศึกษาประวัติศาสตร์สงครามมาอย่างลึกซึ้ง )
ใช้เวลาถึงครึ่งเดือนจึงใกล้ค่ายบางระจัน สุกี้ใข้วิธีตั้งมั่นรบอยู่ในค่าย
ด้วยรู้ว่าคนไทยเชี่ยวชาญการรบกลางแปลง พวกหัวหน้าค่ายบางระจันนำกำลังเข้าตีค่ายพม่าหลายครั้งไม่สำเร็จกลับทำให้ไทยเสียไพร่พลไปเป็นจำนวนมาก
วันหนึ่งนายทองเหม็นดื่มสุราแล้วขี่กระบือนำพลส่วนหนึ่งเข้าตีค่ายพม่า
สุกี้นำพลออกรบนอกค่าย นายทองเหม็นถลำเข้าอยู่ท่ามกลางข้าศึกแต่ผู้เดียว
แม้ว่าจะมีฝีมือสามารถฆ่าฟันทหารพม่ารามัญล้มตายหลายคน
แต่ในที่สุดก็ถูกทหารพม่ารุมล้อมจนสิ้นกำลังและถูกทุบตีตายในที่รบ
(เล่าขานกันมาว่านายทองเหม็นเป็นผู้รู้ในวิชาคงกระพันชาตรี
และมีของขลังป้องกันภยันตราย ฟันแทงไม่เข้า
หากจะทำร้ายคนมีวิชาเช่นนี้จะต้องตีด้วยของแข็ง) ทัพชาวบ้านบางระจันเมื่อเสียนายทัพก็แตกพ่าย
ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกในการรบกับพม่า
ทัพพม่ายกติดตามมาจนถึงบ้านขุนโลกใกล้ค่ายบางระจัน แล้วตั้งค่ายมั่นอยู่
ทัพบางระจันพยายามตีค่ายพม่าอีกหลายครั้งไม่สำเร็จก็ท้อถอย
สุกี้จึงให้ทหารขุดอุโมงค์เข้าใกล้ค่ายน้อยบางระจัน ปลูกหอรบขึ้นสูงนำปืนใหญ่ขึ้นยิงเข้าไปในค่ายถูกผู้คนล้มตายเป็นอันมาก
ค่ายน้อยบางระจันก็แตกพ่ายลงนอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ทำให้ชาวบ้านบางระจันเสียกำลังใจลงอีกคือ
นายแท่นหัวหน้าค่ายที่ถูกปืนที่เข่าบาดเจ็บครั้งที่สุรินทรจอข่องเป็นแม่ทัพยกมาเมื่อการรบครั้งที่
๔ นั้นได้ถึงแก่กรรมลง ในเดือน ๖ ปีจอ พ.ศ. ๒๓๐๙ หัวหน้าชาวบ้านบางระจันคนอื่น
ได้พยายามจะนำทัพไทยออกรบกับพม่าอีกหลายครั้ง
วันหนึ่งทัพพม่าสามารถตีโอบหลังกระหนาบทัพไทยได้
ขุนสรรค์และนายจันหนวดเขี้ยวได้ทำการรบจนกระทั่งตัวตายในที่รบ
ยังเหลือแต่พันเรืองและนายทองแสงใหญ่เป็นหัวหน้าสำคัญ
ชาวค่ายบางระจันเห็นว่าตนเสียเปรียบ ผู้คนล้มตายลงไปมาก
เหลือกำลังที่จะต่อสู้กับพม่าแล้ว จึงมีใบบอกเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยาขอปืนใหญ่ ๒
กระบอก พร้อมด้วยกระสุนดินดำเพื่อจะนำมายิงค่ายพม่า
ทางพระนครปรึกษากันแล้วเห็นพร้อมกันว่าไม่ควรให้เนื่องจากกลัวว่าพม่าจะแย่งชิงกลางทางบ้าง
หรือหากพม่าตีค่ายบางระจันแตก พม่าก็จะได้ปืนใหญ่นั้นมาเป็นกำลังรบพระนคร
พระยารัตนาธิเบศร์ไม่เห็นด้วยในข้อปรึกษา จึงออกไป ณ ค่ายบางระจัน
เรี่ยไรเครื่องภาชนะทองเหลืองทองขาวจากพวกชาวบ้านหล่อปืนใหญ่ขึ้นมาสองกระบอก
แต่ปืนทั้งสองนั้นร้าวใช้ไม่ได้ พระยารัตนาธิเบศร์เห็นว่าการศึกจะไม่เป็นผลสำเร็จจึงกลับพระนคร
เมื่อขาดที่พึ่งชาวบ้านบางระจันก็เสียกำลังใจมากขึ้น
ฝีมือการสู้รบกับพม่าก็พลอยอ่อนลง บางพวกก็พาครอบครัวหลบหนีออกจากค่าย
ผู้คนในค่ายก็เบาบางลง ในที่สุดพม่าก็สามารถตีค่ายใหญ่บางระจันได้ ในวันจันทร์ แรม
๒ ค่ำ เดือนแปด ปีจอ พ.ศ. ๒๓๐๙ รวมเวลาที่ไทยรบกับพม่าตั้งแต่เดือน ๔ ปลายปีระกา
พ.ศ. ๒๓๐๘ ถึงเดือนแปด ปีจอ พ.ศ. ๒๓๐๙ เป็นเวลาทั้งสิ้น ๕ เดือน
พม่าได้กวาดต้อนชาวไทยในค่ายบรรดาที่รอดตายทั้งหลายกลับไปยังค่ายพม่า
ส่วนพระอาจารย์ธรรมโชติซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ช่วยให้กำลังใจให้ชาวบ้านบางระจันสู้รบกับพม่าอย่างห้าวหาญนั้น
ไม่ปรากฏว่าท่านมรณภาพอยู่ในค่าย ถูกกวาดต้อน หรือหลบหนีไปได้
รายชื่อวีรชนที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ พระอาจารย์ธรรมโชติ เดิมอยู่วัดเขานางบวช
แล้วมาอยู่วัดโพธ์เก้าต้น มีความรู้ ทางวิชาอาคม เป็นที่พึ่งทางใจแก่ชาวค่ายบางระจัน
นายแท่น เป็นชาวบ้านสีบัวทอง ถืออาวุธสั้น ถูกปืนของพม่าที่เข่าใน การรบครั้งที่ ๔
เสียชีวิตเมื่อการรบครั้งสุดท้าย นายอิน เป็นชาวบ้านสีบัวทอง นายเมือง
เป็นชาวบ้านสีบัวทอง นายโชติ เป็นชาวบ้านสีบัวทอง ถืออาวุธสั้น นายดอก
เป็นชาวบ้านกลับ นายทองแก้ว เป็นชาวบ้านโพทะเล นายจัน หนวดเขี้ยว เก่งทางใช้ดาบ
เสียชีวิตในการรบครั้งที่ ๘ นายทอง แสงใหญ่ --- นายทองเหม็น
ขี่กระบือเข้าสู้รบกับพม่า ตกในวงล้อมถูกพม่าตีตายใน การรบครั้งที่ ๘ ขุนสรรค์
มีฝีมือเข้มแข็งมักถือปืนเป็นนิจ แม่นปืน พันเรือง --- เหตุการณ์ในระยะเวลา ๕
เดือนที่ชาวบ้านบางระจันและชาวบ้านใกล้เคียงกันไม่ว่าจะเป็น ชาวเมืองสิงห์
เมืองสรรค์
เมืองวิเศษชัยชาญได้รวมตัวกันร่วมแรงร่วมใจเข้าต่อต้านกองทัพพม่าที่มีกำลังมากกว่าในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นจำนวนไพร่พล
อาวุธยุทธโธปกรณ์ ชาวบางระจันใช้ประโยชน์จากชัยภูมิที่มีความชำนาญในท้องที่กว่า
ใช้การรบแบบกองโจร ซุ่มโจมตีกองทัพพม่า ฆ่าฟันทหารพม่าตายรวมแล้วหลายพันคน
เข้ารบพุ่งโรมรันโดยมิเกรงว่าจะเสียชีวิต ทำให้พม่าครั่นคร้ามในฝีมือรบของชาวไทย
โดยแท้ชาวบ้านบางระจันแตกพ่ายทัพพม่าในการรบครั้งสุดท้าย
หาใช่ด้วยสติปัญญาชาวพม่าไม่
ชาวเราแพ้ชาวรามัญที่อยู่ในไทยมานานและไปฝากตัวรับราชการในกองทัพพม่า
จนได้ตำแหน่งสุกี้ วางแผนคุมกองทัพพม่ายกมาตีค่ายบางระจันในครั้งที่ ๘
ทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ที่ ชาวสิงห์บุรี และชาวไทยทุกคนต้องภาคภูมิใจ
ในความกล้าหาญ และความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อปกป้องมาตุภูมิ
จากการข่มเหงของชาวชาติอื่น แม้ชาวบ้านบางระจันจะพ่ายแพ้ในที่สุด
แต่ชื่อเสียงและเกียรติคุณยังคงอยู่แม้เวลาล่วงเลยมา ๒๐๐ กว่าปีแล้ว
เรื่องราวของวีระกรรมชาวค่ายบางระจันยังคงอยู่เปรียบดังผู้เป็นอมตะ
แม้ตัวจะตายไปชื่อยังคงอยู่ แม้จะไม่มีชื่อวีรชนทั้งหมดแต่วีระกรรมยังคงอยู่
ปรากฏอยู่ในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ แม้แต่ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ยังทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือไทยรบพม่า
ตอนวีรชนชาวบ้านบางระจัน เป็นเรื่องเล่าจากปากผู้คนจากรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง
จากพ่อสู่ลูก เป็นนิทานก่อนนอนของปู่เล่าสู่ลูกหลาน
ให้เด็กๆได้จินตนาการถึงภาพความกล้าหาญ ภาพชาวค่ายบางระจันรุกรบกับกองทัพพม่า
เป็นอุทาหรณ์แก่อนุชนรุ่นหลังให้ตระหนักถึงความกล้าหาญ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามัคคี เป็นเรื่องที่พิสูจน์คำกล่าวที่ว่า "สามัคคีคือพลัง"
ได้อย่างแน่แท้ปราศจากข้อสงสัย
หากชาวค่ายบางระจันไม่สามัคคีกันไม่มีทางใดเลยที่จะต้านกองทัพพม่าได้นานถึง ๕
เดือน ถ้าไม่สามัคคีกันย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะชนะกองทัพพม่าถึง ๗ ครั้งติดต่อกัน
ทั้งไม่ปรากฏว่ามีกองทัพใดเข้าช่วยเหลือในการรบที่ค่ายบางระจัน ชัยชนะที่ผ่านมาย่อมไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
ให้เราได้ใคร่ครวญว่าได้ทำให้หมู่คณะของเรามีความสามัคคีกันบ้างไหม
ในปัจจุบันมีการสร้างอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจันในปี พ.ศ. ๒๕๑๗
โดยกรมศิลปากรสร้างอนุสาวรีย์ไว้ตรงกันข้ามวัดโพธิ์เก้าต้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาในวโรกาสเปิดอนุสาวรีย์วีรชนค่ายบางระจันเมื่อวันที่
๒๙ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ทรงมีพระราชดำรัสไว้จึงขออัญเชิญพระราชดำรัสมาลงไว้ ณ ที่นี้
" วีรกรรมในครั้งนั้นเป็นของผู้ที่รักแผ่นดินไทย
เป็นสิ่งที่ทำให้คนไทยทั้งมวล ทั้งในอดีตและปัจจุบันมีกำลังใจและเตือนสติให้มีความสามัคคีและรักษาจิตใจให้เข้มแข็ง
เพื่อรักษาประเทศไทยให้ตนเองและเพื่อความมั่นคงของแผ่นดิน....."
ที่ฐานของอนุสาวรีย์มีคำจารึกไว้ว่า "สิงห์บุรีนี่นี้ นามใด
สิงห์แห่งต้นตระกูลไทย แน่แท้ ต้นตระกูล ณ กาลไหน วานบอก หน่อยเพื่อน ครั้งพม่ามาล้อมแล้
ทั่วท้องบางระจัน "
หลังจากพม่าตีค่ายบางระจันแตกแล้วก็เคลื่อนทัพเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา
และสามารถตีกรุงศรีอยุธยาแตกอีกเป็นครั้งที่ ๒ ในพ.ศ. ๒๓๑๐
ไทยได้เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า
สมเด็จพระเจ้าเอกทัศเสด็จหนีไปหลบซ่อนตัวและอดอาหารอยู่ประมาณ ๑๐ วันพม่าจับตัวได้
นำไปไว้ที่ค่ายโพธิ์สามต้น และเสด็จสวรรคตที่นั่น
พม่ายึดกรุงศรีอยุธยาไว้ได้ประมาณ ๘ เดือน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น