.ยินดีต้อนรับสู่บล็อกของดาวเรืองนะคะ

วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

14 ตุลามหาวิปโยค


14 ตุลา วันมหาวิปโยค วีรชนคนรุ่นหลังที่ควรจดจำ




40 ปีเต็มที่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ การเรียกร้องประชาธิปไตยของมวลชนนักศึกษาและเหล่าประชาชนยังคงเป็นที่จดจำมาถึงทุกวันนี้ แต่คงมีหลายคนที่เกิดไม่ทันในยุคนั้น ถึงวันนี้วันแห่งประวัติศาสตร์เวียนมาอีกครั้ง สำหรับใครที่เกิดไม่ทัน มาย้อนอดีตพร้อมๆกัน

เหตุการณ์ความกล้าหาญของเหล่าวีรชนที่ยืนหยัดต่อสู้กับอำนาจเผด็จการเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เริ่มมาจากการที่จอมพลถนอม กิตติขจร ทำการรัฐประหารตัวเองในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 โดยนักศึกษาและประชาชนมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจตนเองจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อีกทั้ง จอมพลประภาส จารุเสถียร ต่ออายุราชการให้ตนเอง ประกอบกับข่าวคราวเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการต่าง ๆ สร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่ประชาชน รวมถึงเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2516 เฮลิคอปเตอร์ทหารหมายเลข ทบ.6102 เกิดอุบัติเหตุตกที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม พบซากสัตว์เป็นจำนวนมาก ที่ถูกล่ามาจากทุ่งใหญ่นเรศวรซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวน สร้างกระแสไม่พอใจ และเกิดคำถามในหมู่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก

หลังจากนั้นปลายเดือนพฤษภาคมและต้นเดือนมิถุนายน นิสิตนักศึกษากลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติฯ 4 มหาวิทยาลัยได้ออกหนังสือชื่อ "บันทึกลับจากทุ่งใหญ่" เปิดโปงเกี่ยวกับกรณีนี้ ผลการตอบรับออกมาดีมาก และมีการร่วมกันก่อตั้ง " กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ" จากนั้นเมื่อวันที่ วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2516 สมาชิกของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญถูกตำรวจสันติบาลและนครบาลเข้าจับกุมกลุ่มเรียกร้องได้ 11 คน ทั้งหมดถูกแจ้งข้อหา "มั่วสุมชักชวนให้มีการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน" และจับอดีต ส.ส.อีก 2 คน รวมทั้งหมดเป็น 13 คน ซึ่งถูกเรียกว่า 13 ขบถรัฐธรรมนูญ

วันที่ 9 ตุลาคม นิสิตนักศึกษาหลายสถาบันเริ่มชุมนุม มีมติให้ยื่นหนังสือถึงจอมพล ถนอมให้ปล่อย 13 กบฏ และประกาศประท้วงถึงที่สุด เวลา 20.00 น.

วันที่ 10 ตุลาคม นักเรียนอาชีวะ นิสิต นักศึกษาในกรุงเทพฯ จากหลายสถาบันเริ่มทยอยกันมาชุมนุมที่ลานโพธิ์
จอมพลถนอม กิตติขจร ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นการฉุกเฉินที่ศูนย์ปฏิบัติการทหารบก (ศ.ป.ก.ท.บ.) สวนรื่นฤดี มีมติแต่งตั้งให้จอมพลประภาส จารุเสถียร รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความสงบ

วันที่ 11 ตุลาคม หลังจากชุมนุมโจมตีรัฐบาลมาตลอดทั้งคืน นิสิต นักศึกษา และประชาชนจากทั่วกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงก็ได้ทยอยหลั่งไหลมายังสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดทั้งวัน จนทำให้มีผู้ร่วมชุมนุมกว่า 6 หมื่นคน
ทางด้านฝ่ายเผด็จการ จอมพลถนอม กิตติขจร ได้สั่งให้ทหาร 3 เหล่าทัพ เตรียมพร้อมเพื่อรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น และตำรวจในต่างจังหวัดได้รับคำสั่งให้กักรถที่บรรทุกนักเรียนนักศึกษาต่าง จังหวัดไม่ให้เข้ากรุงเทพฯ

วันที่ 12 ตุลาคม นาย สมบัติ ธำรงค์ธัญญวงศ์เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ในขณะนั้น ได้ประกาศ แถลงการณ์ของศูนย์ มีใจความว่า ให้ปลดปล่อยผู้ต้องหาทั้ง 13 คนภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลเป็นที่น่าพอใจ จะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด ซึ่งฝ่ายรัฐบาลได้ประชุมตกลงยอมปล่อยผู้ ต้องหาทั้ง 13 คนได้โดยมีการประกันตัว ส่วนข้อกล่าวหา ว่าเป็นกบฏและคอมมิวนิสต์นั้น ให้ไปต่อสู้กันในชั้นศาล และได้ออกประกาศทางกรมประชาสัมพันธ์

วันที่ 13 ตุลาคม เริ่มต้นเดินขบวนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกไปตามถนนราชดำเนิน สู่ลานพระบรมรูปทรงม้า (คาดกันว่ามีราว 500,000 คน) แกนนำนักศึกษาได้เข้าพบเจรจากับ พลเอกประภาส จารุเสถียรและคณะนายตำรวจระดับผู้ใหญ่ โดยทำสัญญาว่ารัฐบาลจะปล่อยตัวผู้ต้องขังทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข และจะร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จก่อนเดือนตุลาคม 2517 ส่วนทางฝ่ายผู้ชุมนุมก็ต้องหาทางให้ฝูงชนสลายตัวโดยเร็วที่สุดทางด้านนายสมบัติก็แจ้งทางศูนย์ฯเมื่อเวลา 14.45 น.ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักศึกษาจัดตัวแทนเข้าเฝ้าได้

ปัญหาเกิดขึ้นในตอนนี้ที่ แกนนำที่ไปเจรจาและเข้าเฝ้ายังไม่ได้แจ้งข่าวให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่นายเสกสรร ดูแลอยู่ทราบอะไร จึงตัดสินใจเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมาในเวลา 17.30 น.ระหว่างขบวนกำลังเคลื่อนอยู่นั้น กลุ่มที่ได้ทราบประกาศจากกลุ่มที่เข้าเฝ้าว่าทั้ง 13 คนได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข และจะได้รัฐธรรมนูญภายใน ตุลาคม 2517 แต่กระนั้นฝูงชนเริ่มเรียกร้องว่าจะเอารัฐธรรมนูญเร็วกว่านั้น

เช้าตรู่วันที่ 14 ตุลาคม จุดเริ่มต้นของจราจลเริ่มก่อต่อขึ้น เมื่อผู้ชุมนุมประท้วงกำลังแยกย้ายกลับและได้ใช้เส้นทางหน้าพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้ผ่าน ด้วยความที่ไม่เข้าใจกันจึงเกิดการกระทบกระทั่ง การปะทะกันกลายเป็นการจลาจลฝ่ายกลุ่มคนที่ล่วงหน้ากลับไปยังธรรมศาสตร์ได้ข่าวว่าตำรวจตีประชาชนก็โกรธ แค้น หาว่าหักหลัง จึงเรียกให้กลับไปพร้อมที่ธรรมศาสตร์ เหตุการณ์ได้บานปลายลุกลามออกไปอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดไว้ ทหารและตำรวจออกปราบฝูงชนโดยใช้ทั้งอาวุธปืน รถถัง และเฮลิคอปเตอร์ มีการต่อสู้ปะทะกันตลอดสายถนนราชดำเนินตั้งแต่ผ่านฟ้าถึงสนามหลวง
นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ก็เริ่มตอบโต้กลับรุนแรงมากขึ้น มีการยิงและปาระเบิดขวดตอบโต้ทหารตำรวจ ศพวีรชนที่สละชีวิตหลายคนถูกแห่เพื่อเป็นการประจานความทารุณของทหารตำรวจและชักชวนให้ประชาชนไปร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ส่วนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นักศึกษาก็ลำเลียงผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บไปโรงพยาบาลศิริราชทางเรือตลอดเวลา

และในตอนค่ำวันที่ 14 ตุลาคม จอมพลถนอมได้ประกาศลาออก และนายสัญญา ธรรมศักดิ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกแทน แล้วแต่เหตุการณ์ก็ยังไม่สงบ เพราะประชาชนยังไม่วางใจเพราะจอมพลถนอมยังอยู่ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด เหตุการณ์จึงยังไม่สงบโดยกลุ่มทหารได้เปิดฉากยิงเข้าใส่นักศึกษาและประชาชนอีกครั้งหลังจากพระราชดำรัสทางโทรทัศน์เพียงหนึ่งชั่วโมง

วันที่ 15 ตุลาคมเวลา 08.15 น. สถานีวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ก็ได้กระจายเสียงประกาศของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ให้ราชการในกรุงเทพฯ หยุดเป็นเวลา 3 วัน โดยเหตุการณ์ยังคงตึงเครียด ทหารส่งกำลังเข้ามาเสริมตามจุดต่าง ๆ ที่มีการจลาจล ส่วนทางเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วกรุงเทพฯ ไม่ได้ออกปฏิบัติหน้าที่ แต่ตั้งรับอยู่ในแต่ละสถานีโดยไม่ได้สวมเครื่องแบบตำรวจ หลายโรงพักถูกปล่อยร้าง
ซึ่งในตอนหัวค่ำ ได้มีประกาศว่า จอมพลประภาส พ.อ. ณรงค์และบริวารได้เดินทางออกนอกประเทศไปยังไทเป ส่วนจอมพลถนอม และครอบครัว เดินทางไปขอลี้ภัยในสหรัฐอเมริกาในคืนถัดมา เหตุการณ์จึงค่อยสงบลง

วันที่ 16 ตุลาคม ผู้ชุมนุมและประชาชนต่างพากันช่วยทำความสะอาดพื้นถนนและสถานที่ต่าง ๆ ที่ได้รับความเสียหาย ที่ทำเนียบรัฐบาล คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ได้ประชุมเป็นครั้งแรกเมื่อเวลา 17.30 น. โดยมีมติให้ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ชุมนุมระหว่างวันที่ 14-15 ตุลาคม 2516 และมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่
คณะรัฐมนตรี มีมติให้ก่อสร้าง อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ขึ้นที่ สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง โดยกว่าจะผ่านกระบวนต่าง ๆ และสร้างจนแล้วเสร็จนั้น ต้องใช้เวลาถึง 28 ปี


หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นประเทศไทยก็ได้เปลี่ยนการปกครองจากอำนาจเผด็จการทางทหารที่กินระยะเวลามานานถึง 16 ปี ไปสู่มือนักการเมือง ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ถึงแม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะผ่านมากว่า 40 ปีแล้ว ก็ยังสามารถเป็นบทเรียนได้ในสังคมยุคปัจจุบันที่เราก็ยังมีการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มต่างๆ ซึ่งเรายังจะติดอยู่กับวังวลเดิมๆ หรือ ประชาธิปไตยจะกว้าหน้า คงต้องขึ้นอยู่กับประชาชนชาวไทยทั้งหลายแล้วล่ะว่าเราจะใช้อำนาจที่พึงมีให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไรต่อประเทศชาติ



                      

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น