.ยินดีต้อนรับสู่บล็อกของดาวเรืองนะคะ

วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

พระราชกรณียกิจที่สำคัญของรัชกาลที่ 3

     

             การปกครองประเทศ เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ก็โปรดให้จัดการปกครองบ้านเมืองเสียใหม่ให้เหมาะสมกับภาวการณ์ในเวลานั้น โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองขึ้นใหม่เพื่อสะดวกแก่การปกครองและเพื่อรวบรวมราษฎรที่กระจัดกระจายกันให้มาอยู่รวมกันเป็นหมู่เหล่า นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมปราการเพื่อป้องกันข้าศึกที่อาจจู่โจมเข้ามาทางเรือ เพิ่มเติมขึ้นที่สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และที่จันทบุรี โปรดให้มีการปราบปรามโจรผู้ร้าย ซึ่งในเวลานั้นมี พวกอั้งยี่เข้ามาระรานปล้นสะดมภ์จนราษฎร์ไทยที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นเดือดร้อน จึงโปรดให้ทหารเรือยกกำลังไปปราบปรามจนสงบราบคาบตลอดจนการลักลอบค้าฝิ่นและการสูบฝิ่นก็ให้ปราบปรามเช่นกัน
        การทำนุบำรุงบ้านเมือง ในช่วงของรัชกาลที่ 2 ฐานะทางเศรษฐกิจของไทยไม่ใคร่มั่นคงมากนัก
ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเข้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์จึงทรงเร่งหาเงินเข้าประเทศ เพื่อนำไปใช้ในการทำนุบำรุงบ้านเมืองและบริหารราชการแผ่นดินด้วยการทำการค้ากับต่างประเทศ และจากการเก็บภาษีอากรภายในประเทศโดยเฉพาะเกี่ยวกับภาษีอากรนี้สามารถทำรายได้ให้แผ่นดินเป็นอันมาก
         ทางด้านศาสนา ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นนิจ ทรงบูรณะปฎิสังขรณ์พระอารามเป้นจำนวนมาก
โปรดให้มีการสอนพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุ และโปรดให้จารึกสรรพตำราต่าง ๆ 8 หมวดบนแผ่นศิลา ประดับไว้ ณ ศาลารายในวัดพระเชตุพนฯ เพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน เสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ ส่วนด้านวรรณกรรมนั้นทรงเป็นกวีด้วยพระองค์เอง และทรงส่งเสริมผู้มีความรู้ด้านนี้ ส่วนงานด้านศิลปกรรมนับเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสร้าง บูรณะปฎิสังขรณ์พระอาราม มีผู้กล่าวว่า ลักษณะศิลปกรรมในรัชกาลที่ 3 เป็นแบบที่งดงามยิ่งเพราะหลังจากนี้ศิลปกรรมไทยรับอิทธิพลศิลปะตะวันตกมากเกินไป
        ในเดือนกันยายน พุทธศักราช 2393 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยุ่หัวทรงเริ่มมีพระอาการประชวรและนับแต่นั้นพระอาการก็ค่อย ๆ ทรุดหนักลงเป็นลำดับนับเป็นเวลานานหลายเดือน ในที่สุดมิอาจเสด็จออกมาราชการได้จนเมื่อวันที่ 2 เมษายน พุทธศักราช 2394 จึงเสด็จสวรรคต ขณะมีพระชนมายุได้ 64 พรรษารวมเวลาที่เสด็จอยู่ในสิริราชสมบัตินานราว 27 ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น 51 พระองค์ โดยประสูติก่อนที่จะทรงบรมราชาภิเษก 38 พระองค์และประสูติหลังจากที่ทรงบรมราชาภิเษกแล้ว 11 พระองค์
        พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มิได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระอัครมเหสีพระองค์ใดขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินีดังนั้นจึงไม่มีพระบรมราชินีในรัชกาลนี้ คงมีเพียงแต่เจ้าจอมมารดาและพระสนมเอกเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะไม่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้มีการสืบราชสมบัติทางสายของพระองค์กับทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้แล้วว่าเมื่อสิ้นรัชกาลของพระองค์แล้วโปรดที่จะเวนคืนราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้ามงกุฎต่อไป

พระราชกรณียกิจ ร.1

พระราชกรณียกิจด้านการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี 

            พระราชกรณียกิจประการแรกที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงจัดทำเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ คือการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีใหม่ ทางตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แทนกรุงธนบุรี ด้วยเหตุผลทางด้านยุทธศาสตร์ เนื่องจากกรุงธนบุรีตั้งอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำ ทำให้การลำเลียงอาวุธยุทธภัณฑ์ และการรักษาพระนครเป็นไปได้ยาก อีกทั้งพระราชวังเดิมมีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถขยายได้ เนื่องจากติดวัดอรุณราชวราราม และวัดโมฬีโลกยาราม ส่วนทางฝั่งกรุงรัตนโกสินทร์นั้นมีความเหมาะสมกว่าตรงที่มีพื้นแผ่นดินเป็นลักษณะหัวแหลม มีแม่น้ำเป็นคูเมืองธรรมชาติ มีชัยภูมิเหมาะสม และสามารถรับศึกได้เป็นอย่างดี
            การสร้างราชธานีใหม่นั้นใช้เวลาทั้งสิ้น ๓ ปี โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงทำพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีขาล จศ.๑๑๔๔ ตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน พศ.๒๓๒๕ และโปรดเกล้าฯให้สร้าง พระบรมมหาราชวัง สืบทอดราชประเพณี และสร้างพระอารามหลวงในเขตพระบรมมหาราชวังตามแบบกรุงศรีอยุธยา ซึ่งการสร้างเมืองและพระบรมมหาราชวังเป็นการสืบทอดประเพณี วัฒนธรรม และศิลปะกรรมดั้งเดิมของชาติ ซึ่งปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และได้พระราชทานนามแก่ราชธานีใหม่นี้ว่า กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรา ยุทธยา มหาดิลก ภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต  สักกะทัตติยะวิษณุกรรมประสิทธิ์  นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯให้ สร้างสิ่งต่างๆ อันสำคัญต่อการสถาปนาราชธานีได้แก่ ป้อมปราการ, คลอง ถนนและสะพานต่างๆ มากมาย                                                       

พระราชกรณียกิจด้านการป้องกันประเทศ
 
          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระปรีชาสามารถในการรบ ทรงเป็นผู้นำทัพในการทำสงครามกับพม่าทั้งหมด    ครั้งในรัชสมัยของพระองค์  ได้แก่สงคราม
สงครามครั้งที่    พ.ศ. ๒๓๒๘ สงครามเก้าทัพ
            สงคราม ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดระหว่างไทยกับพม่า โดยในครั้งนั้นพระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์อลองพญาของพม่า มีพระประสงค์จะเพิ่มพูนพระเกียรติยศและชื่อเสียงให้ขจรขจายด้วยการกำราบ ประเทศไทย จึงรวบรวมไพร่พลถึง ๑๔๔,๐๐๐  คน  กรีธาทัพเข้าตีประเทศไทยโดยแบ่งเป็น    ทัพใหญ่  เข้าตีจากกรอบทิศทางส่วนทัพของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีกำลังเพียงครึ่งหนึ่งของทหารพม่าคือมีเพียง ๗๐,๐๐๐  คนเศษเท่านั้น  
            ด้วยพระปรีชาสามารถในการทำสงคราม ได้ทรงให้ทัพของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทไปสกัดทัพพม่าที่บริเวณทุ่งลาดหญ้า  ทำให้พม่าต้องชะงักติดอยู่บริเวณช่องเขา  แล้วทรงสั่งให้จัดทัพแบบกองโจรออกปล้นสะดม  จนทัพพม่าขัดสนเสบียงอาหาร  เมื่อทัพพม่าบริเวณทุ่งลาดหญ้าแตกพ่ายไปแล้วกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจึงยกทัพไปช่วยทางอื่น  และได้รับชัยชนะตลอดทุกทัพตั้งแต่เหนือจรดใต้
สงครามครั้งที่    พ.ศ.  ๒๓๒๙  สงครามท่าดินแดงและสามสบ
            ครั้ง นี้ทัพพม่าเตรียมเสบียงอาหารและเส้นทางเดินทัพอย่างดีที่สุดโดยแก้ไขข้อผิด พลาดต่างๆ จากศึกครั้งก่อน โดยพม่าได้ยกทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์  มาตั้งค่ายอยู่ที่ท่าดินแดงและสวนสามสบ  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงยกทัพหลวงเข้าตีที่ค่ายดินแดงพร้อมกับให้ทัพของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเข้าตีค่ายพม่าที่สามสบ  หลังจากรบกันได้  ๓ วันค่ายพม่าก็แตกพ่ายไปทุกค่าย และพระองค์ยังได้ทำสงครามขับไล่อิทธิพลของพม่าได้โดยเด็ดขาด และตีหัวเมืองต่างๆ ขยายราชอาณาเขต ทำให้ราชอาณาจักรไทยมีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์  ตั้งแต่ดินแดนล้านนา ไทยใหญ่ สิบสองปันนา หลวงพระบาง เวียงจันทร์ กัมพูชา และด้านทิศใต้ไปจนถึงเมือง กลันตัน  ตรังกานู  ไทรบุรี  ปะริด และเประ
สงครามครั้งที่    พ.ศ.  ๒๓๓๐ สงครามตีเมืองลำปางและเมืองป่าซาง
            หลังจากที่พม่า พ่ายแพ้แก่ไทยก็ส่งผลทำให้เมืองขึ้นทั้งหลายของพม่า เช่น เมืองเชียงรุ้งและเชียงตุง เกิดกระด้างกระเดื่อง ตั้งตนเป็นอิสระ พระเจ้าปดุงจึงสั่งให้ยกทัพมาปราบปราม  รวมถึงเข้าตีลำปางและป่าซาง เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทราบเรื่องจึงสั่งให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทคุมไพร่พล  ๖๐,๐๐๐  นาย  มาช่วยเหลือ และขับไล่พม่าไปเป็นผลสำเร็จ
สงครามครั้งที่    พ.ศ.  ๒๓๓๐  สงครามตีเมืองทวาย
            ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์ไพร่พล  ๒๐, ๐๐๐ นาย ยกทัพไปตีเมืองทวาย แต่สงครามครั้งนี้ไม่มีการรบพุ่ง เพราะต่างฝ่ายต่างก็ขาดแคลนเสบียงอาหาร รี้พลก็บาดเจ็บจึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอยทัพกลับกรุงเทพ
สงครามครั้งที่    พ.ศ.  ๒๓๓๖  สงครามตีเมืองพม่า
            ในครั้งนั้นเมืองทวาย ตะนาวศรี และมะริด ได้เข้ามาขอสวามิภักดิ์ต่อไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกทัพไปช่วยป้องกันเมือง แต่เมื่อพระเจ้าปดุงยกทัพมาปราบปรามเมืองทั้งสามก็หันกลับเข้ากับทางพม่าอีก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอยทัพกลับกรุงเทพฯ
สงครามครั้งที่    พ.ศ.  ๒๓๔๐  สงครามพม่าที่เมืองเชียงใหม่
            เนื่องจากสงครามในครั้งก่อนๆ พระเจ้าปดุงไม่สามารถตีหัวเมืองล้านนาได้  จึงทรงรับสั่งไพร่พล  ๕๕,๐๐๐  นาย ยกทัพมาอีกครั้งโดยแบ่งเป็น ๗ ทัพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึง โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทคุมไพร่พล ๒๐,๐๐๐ นาย ขึ้นไปรวมไพร่พลกับทางเหนือเป็น ๔๐,๐๐๐ นาย ระดมตีค่ายพม่าเพียงวันเดียวเท่านั้นทัพพม่าก็แตกพ่ายยับเยิน
สงครามครั้งที่    พ.ศ.  ๒๓๕๕  สงครามพม่าที่เมืองเชียงใหม่  ครั้งที่ ๒
            ในครั้งนั้นพระยากาวิละได้ยกทัพไปตีเมืองสาด หัวเมืองขึ้นของพม่า พระเจ้าปดุงจึงยกทัพลงมาตีเมืองเชียงใหม่เพื่อแก้แค้น  เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงทราบ  จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งกองทัพไปช่วยเหลือ  และสงครามครั้งนี้ก็จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายไทย
พระราชกรณียกิจด้านการชำระประมวลกฎหมาย 

            เมื่อปี พ.ศ.  ๒๓๔๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาชำระกฎหมายที่มีอยู่ให้ถูกต้องและสมบูรณ์  เพื่อนำมาใช้เป็นหลักการปกครองต่อไป  ซึ่งกฎหมายที่ชำระขึ้นใหม่มีชื่อว่า กฎหมายตราสามดวง มีความยาวเป็นสมุดยกแปด ๓  เล่ม รวม ๑,๖๗๗ หน้า ใช้เวลาในการชำระ ๑๑ เดือน ซึ่งกฎหมายตราสามดวงนี้ได้ใช้มาอย่างยาวนานจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕)  รวมระยะเวลา ๑๓๑ ปี      
พระราชกรณียกิจด้านการปกครอง
            การปกครองสมัยนั้นแบ่งเป็นหัวเมืองชั้นในและชั้นนอก ตำแหน่งที่รองลงมาจากพระมหากษัตริย์ คือตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
            ระบบการบริหารมีอัครเสนาบดี    ตำแหน่ง  คือ  สมุหพระกลาโหม  มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และสมุหนายกมีหน้าที่ปกครองดูแลความสงบเรียบร้อยในพระนคร
            เสนาบดีจตุสดมภ์  ดูแลด้านต่างๆ มี ๔ ตำแหน่ง ประกอบด้วย
            ๑. เสนาบดีกรมเมือง หรือ กรมเวียง  มีตราพระยมทรงสิงห์เป็นตราประจำตำแหน่ง  มีหน้าที่บังคับบัญชารักษาความปลอดภัยให้แก่ราษฎรทั่วไปในราชอาณาจักร
            ๒. เสนาบดีกรมวัง  มีตราเทพยดาทรงพระนนทิกร(โค) เป็นตราประจำตำแหน่งมีหน้าที่บังคับบัญชาภายในพระบรมมหาราชวัง  และพิจารณาความคดีแพ่ง
            ๓. เสนาบดีกรมพระคลัง  มีตราบัวแก้วเป็นตราประจำตำแหน่งมีหน้าที่ในการรับ-จ่าย  และเก็บรักษาพระราชทรัพย์ที่ได้จากการเก็บส่วยอากร  รวมถึงบังคับบัญชากรมท่าและการค้าขายกับต่างประเทศ  รวมถึงกรมพระคลังต่างๆ เช่น กรมพระคลังสินค้า
            ๔. เสนาบดีกรมนา มีตราพระพิรุณทรงนาคเป็นตราประจำตำแหน่ง  มีหน้าที่บังคับบัญชาเกี่ยวกับกิจการไร่นาทั้งหมด



การเลิกทาส


สาเหตุในการเลิกทาส มีสาเหตุที่สำคัญดังต่อไปนี้ 
        1) อิทธิพลของอารยธรรมตะวันตกที่มุ่งปลดปล่อยทาสให้เป็นเสรีชนได้แพร่ขยายเข้ามาในสังคมไทยภายหลังที่ไทยได้ติดต่อค้าขายกับประเทศตะวันตกอย่างกว้างขวาง ภายหลังการทำสนธิสัญญาบาวริง พ.ศ. 2398 เป็นต้นมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นแรงกระตุ้นให้รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริที่จะยกเลิกการมีทาสในสังคมไทย
        2) อิทธิพลของลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกที่กำลงส่อเค้าว่าจะคุกคามไทย ถ้าสังคมไทยยังมีลักษณะป่าเถื่อนล้าหลัง และพลเมืองส่วนใหญ่ยังตกเป็นทาส โดยที่มหาอำนาจตะวันตกจะถือเป็นข้ออ้างเข้ามาช่วยสร้างความเจริญให้ด้วยการเข้ามายึดครอง ดังนั้น การปรับสังคมด้วยการเลิกทาสย่อมเป็นการลดกระแสกดดันของลัทธิจักรวรรดินิยมได้
        3) ความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจที่ต้องการแรงงานเสรีเพิ่มมากขึ้น โดยระบบการค้าเสรีที่เกิดขึ้นภายหลังสนธิสัญญาบาวริง ทำให้ธุรกิจการค้าและการผลิตต่างๆ ขยายตัวออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตข้าว ซึ่งการปลดปล่อยทาสให้มีอิสระในแรงงานของตนย่อมสนองตอบต่อความต้องการทางด้านแรงงานเสรีของระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่กำลังขยายตัว 
        4) ความจำเป็นทางด้านการปกครองที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีแผนการปฏิรูประบบบริหารราชการให้ทันสมัย ดังนั้นเมื่อทรงมีแผนการเช่นนี้แล้ว การปลดปล่อยทาสให้เป็นเสรีชนย่อมจะสอดคล้องกับความต้องการกำลังคนซึ่งมีอิสระในแรงงานของตนเป็นอย่างมาก เพื่อรองรับการขยายงานของระบบบริหารราชการสมัยใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

        5) เกิดจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงมีพระราชประสงค์จะให้คนไทยมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันทุกคน จึงมีพระราชดำริจะยกเลิกการมีทาสในสังคมไทย
การปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระแก่ตนเองนั้นจำเป็นจะต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะสังคมไทยมีทาสมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ การยกเลิกทาสโดยฉับพลันย่อมจะกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ของกลุ่มมูลนายที่มีทาสในครอบครอง ดังนั้นรัชกาลที่ 5 จึงทรงเตรียมแผนการในการเลิกทาสอย่างมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
ขั้นตอนการเลิกทาส
          1) การออกประกาศให้ทำการสำรวจจำนวนทาสใน พ.ศ.2417 คือ ได้มีการประกาศให้ผู้ที่มีทาสในครอบครองได้ทำการสำรวจตรวจสอบจำนวนทาสในครอบครองของตนว่ามีอยู่เท่าไร รวมทั้งระยะเวลาที่ทาสจะต้องเป็นทาสจนกว่าจะพ้นค่าตัว ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสะดวกในการวางแผนขั้นต่อไป โดยเฉพาะให้มีการสำรวจและจดทะเบียนทาสที่เกิดตั้งแต่ปีมะโรง พ.ศ.2411 อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นมา ทั้งนี้เพื่อเตรียมการเอาไว้สำหรับการวางแผนเลิกทาสต่อไป
          2) การประกาศใช้พระราชบัญญัติพิกัดกระเษียรอายุลูกทาสลูกไทย พ.ศ.2417 ซึ่งได้กำหนดแนวทางในการปฏิบัติดังนี้
    -  ถ้าทาสคนใดที่ถูกขายตัวเป็นทาสเกิดใน พ.ศ.2411 และในปีต่อๆ มาจนถึงอายุ 21 ปีให้พ้นค่าตัวเป็นไท ไม่ว่าทาสจะอยู่กับมูลนายเดิม หรือย้ายโอนไปอยู่กับนายมูลใหม่ ส่วนทาสที่เกิดก่อน พ.ศ.2411 ก็คงเป็นทาสต่อไปตามกฎหมายเดิม
    -  ถึงแม้ว่าบุคคลซึ่งเกิดตั้งแต่ พ.ศ.2411 เป็นต้นมานั้น จะได้รับการปลดปล่อยตามเงื่อนไขเวลาที่กล่าวมาแล้ว ต่อเมื่อถึง พ.ศ.2431 เป็นต้นไปก็ตาม แต่ก็สามารถได้รับการไถ่ถอนให้พ้นจากความเป็นทาสได้ในราคาพิเศษซึ่งถูกกว่าทาสที่เกิดก่อน พ.ศ.2411
    -  กำหนดว่าถ้าผู้ใดจะนำบุตรหลานของตนไปขายเป็นทาสซึ่งเกิดตั้งแต่ พ.ศ.2411 และมีอายุต่ำกว่า 15 ปีลงมาไปขายเป็นทาส จะต้องขายในอัตราซึ่งกำหนดไว้ในพิกัดกระเษียรอายุใหม่ในรัชกาลที่ 5
     - ห้ามผู้ที่เกิดใน พ.ศ.2411 หรือบิดามารดาของตนเองขายตนเป็นทาส โดยที่ตนเองและบิดามารดากล่าวเท็จว่ามิได้เกิดใน พ.ศ.2411 จะต้องถูกลงโทษด้วย
     - ห้ามมูลนายคิดค่าข้าว ค่าน้ำ กับเด็กชายหญิงที่ติดตามพ่อแม่ พี่น้อง ป้า น้า อา ของตนที่ขายตัวเป็นทาส จนกลายเป็นเจ้าหนี้ของเด็กและเอาเด็กเป็นทาสต่อไปด้วย
    พระราชบัญญัติกระเษียรอายุลูกทาสลูกไทย พ.ศ.2417 นี้ มิได้ใช้บังคับในทุกมณฑล มีบางมณฑลมิได้บังคับใช้ คือ มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือหรือมณฑลพายัพ มณฑลตะวันออกหรือมณฑลบูรพา มณฑลไทยบุรี กลันตัน ตรังกานู ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าขณะนั้นมณฑลเหล่านี้ยังเป็นประเทศราชอยู่ จึงไม่นับรวมเข้ามาในพระราชอาณาเขตตามความหมายของพระราชบัญญัตินี้
          3) การประกาศเลิกทาสในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ (มณฑลพายัพ) พ.ศ.2443
     พ.ศ.2443 ได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติลักษณะทาสมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ โดยมุ่งหมายที่จะให้การเลิกทาสในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือได้ดำเนินไปอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2443 เป็นต้นไป
          4) การประกาศแผนการเลิกทาสในมณฑลบูรพาใน พ.ศ.2447 
    พ.ศ.2447 ได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติลดค่าตัวทาสในมณฑลบูรพา เพื่อเตรียมการเลิกทาสในมณฑลบูรพาอย่างเป็นขั้นตอน แต่ต่อมาใน พ.ศ.2449 ไทยก็เสียมณฑลบูรพาให้แก่ฝรั่งเศส
          5) การประกาศใช้พระราชบัญญัติทาสรัตนโกสินทร์ศก 124 ใน พ.ศ. 2448
        พ.ศ.2448 รัชกาลที่ 5 ทรงโปรกเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติทาสรัตนโกสินทร์ศก 124 ซึ่งถือว่าเป็นแผนการเลิกทาสขั้นสุดท้ายในรัชสมัยของพระองค์ ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้มีการกำหนดหลักการและวิธีการในการปลดปล่อยที่สำคัญบางประการ คือ
         (1) กำหนดให้บรรดาลูกทาสที่เกิดมาไม่ต้องตกเป็นทาสในเรือนเบี้ยดังแต่ก่อนและห้ามคนที่เป็นไทแก่ตัวและทาสที่หลุดพ้นค่าตัวกลับไปเป็นทาสอีก
        (2) ให้มีการลดค่าตัวทาสลงเดือนละ 4 บาท ซึ่งจะทำให้ทาสเป็นไทแก่ตัวเร็วขึ้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้ใช้ พระราชบัญญัติทาสรัตนโกสินทร์ศก 124 กับมณฑลพายัพอีกด้วย   
        จะเห็นได้ว่าพระบรมราชโองการปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระแก่ตนเองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำเนินไปในลักษณะอย่างเป็นขั้นตอน โดยอาศัยเวลาเพื่อให้เกิดการปรับตัวพร้อมที่จะรับต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของบรรดาเจ้าของทาส อันจะทำให้การปลดปล่อยทาสดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในระยะต่อมา ทั้งนี้เป็นเพราะความสุขุมคัมภีรภาพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยแท้


ผลกระทบอันเกิดจากการเลิกทาส
        1) ทำให้บรรดาเจ้าของทาสต้องสูญเสียประโยชน์อันเกิดจากแรงงานทาสที่เคยได้รับมาเป็นเวลานาน
        2) ทำให้เกิดแรงงานเสรี ซึ่งช่วยให้การดำเนินธุรกิจการลงทุนมีความคล่องตัวมากขึ้น เพราะมีแรงงานเสรีซึ่งเกิดจากการปลดปล่อยทาสในตลาดแรงงานมากขึ้น อันจะส่งผลให้การลงทุนทางด้านธุรกิจการค้าและการอุตสาหกรรมขยายตัวออกไปมากขึ้น


"พระนางเรือล่มอัครมเหสีสุดรักแห่งรัชกาลที่ 5"

"พระนางเรือล่มอัครมเหสีสุดรักแห่งรัชกาลที่ 5"
ที่รฦกถึงความรัก
แห่ง
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
พระบรมราชเทวี อรรคมเหษี อันเสด็จทิวงคตแล้ว
ซึ่งเธอเคยมาอยู่ในสวนนี้โดยความศุขสบายและเปนที่
เบิกบานใจพร้อมด้วยผู้ซึ่งเปนที่รัก
และที่สนิทสนมอย่างยิ่งของเธอ
อนุสาวรีนี้สร้างขึ้น
โดย
จุฬาลงกรณ์ บรมราช
ผู้เปนสวามีอันได้รับความเศร้าโศกเพราะความทุกข์
อันแรงกล้าในเวลานั้น แทบจะถึงแก่ชีวิตร
ถึงกระนั้นยังมิได้หักหาย
จุลศักราช ๒๑๔๓

คำจารึกไว้อาลัย ที่ปรากฎบน  อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ภายในเขตพระราชฐานชั้นใน พระราชวังบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา   
  

พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4  กับเจ้าจอมมารดาเปี่ยม (สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา)  พระราชสมภพ  เมื่อวันเสาร์ เดือน 12  แรม 12 ค่ำ   ปีวอก  ตรงกับที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403    ทรงมีพระเชษฐาและพระขนิษฐาร่วมพระมารดาทั้งสิ้น 6 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี และ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ
ครั้นพระชนมายุ ราว 15-17 พรรษา  ทรงเป็นพระอัครมเหสีพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   ประสูติพระราชธิดาพระองค์แรก โดยเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 21 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางคทัศนียลักษณ์ อัครวรราชกุมารี
พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงมีพระอุปนิสัยแข็งแกร่ง เด็ดขาด แต่ด้วยพระสิริโฉม รวมทั้งพระอัธยาศัยที่สุภาพ เรียบร้อย และสงบเสงี่ยม ทำให้พระองค์เป็นที่นับถือในพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร และทรงเป็นที่สนิทเสน่หาในพระราชสวามียิ่งนัก

ปีแห่งความโศกสลด
 วันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423
ระหว่างขบวนเรือพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   ที่เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน จากบางกอกไปยังพระราชวังบางปะอิน  ดังเช่นพระราชกรณียกิจปกติที่ทรงกระทำอย่างสม่ำเสมอ
 กลับเกิดโศกนาฏกรรมไม่คาดฝัน!! ที่ยังความสูญเสียอันเศร้าโศกที่สุด มาสู่สยามประเทศคราวนั้น เรือพระประเทียบ "ปานมารุต"  ที่มีสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งทรงพระครรภ์ได้ 5 เดือน  พร้อมด้วย พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์  และพระพี่เลี้ยงชื่อ แก้ว ประทับมาอยู่ด้วยนั้น ประสบอุบัติเหตุล่มที่บางพูด เมืองนนทบุรี 
 เป็นที่เศร้าสลดใจยิ่ง เมื่อพบว่า  ทั้ง 3  ชีวิต  รวมทั้ง พระโอรส หรือพระธิดาไม่ทราบได้ในครรภ์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรตน์  จมอยู่ใต้ท้องเรือโดยที่ไม่มีใครกล้าเข้าไปช่วย เนื่องจากติดอยู่ที่กฎมณเฑียรบาลว่า ห้ามผู้ใดแตะต้องพระวรกายพระมเหสีมิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งโคตร   เป็นเหตุให้สิ้นพระชนม์ทั้งหมด
ก่อนหน้าจะเสด็จพระราชดำเนิน    พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ทรงเล่าความฝันที่ พระสุบิน (ฝัน)  ให้ผู้ใกล้ชิดฟังว่า พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ทรงพลัดตกน้ำลงไปด้วยกันทั้ง 2  พระองค์   พระสุบินนี้ สร้างความหวั่นพระทัยอย่างมาก แต่ก็มิได้ทรงกราบบังคมทูลให้พระราชสวามีทรงทราบ และได้ตามเสด็จฯ ประพาสพระราชวังบางปะอินตามพระราชประสงค์ จนเกิดโศกนาฏกรรมร้ายขึ้น

เหตุการณ์นั้น  ยังความเสียพระทัย โศกเศร้า ต่อ  พระพุทธเจ้าหลวง  ในการสูญเสียเอัครมเหสีอันเป็นที่รักยิ่งเป็นอย่างมาก   

วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เสาชิงช้า

สวัสดีค่ะทุกคนดาวเรืองมาแล้วค่ะส่วนใหญ่ในบทความดาวจะพูดถึงเหตุการณ์ บุคคลสำคัญ และสมัย แต่วันนี้ดาวเรืองจะนำเสนอความเป็นมาของสถานที่ที่น่าสนใจวันนี้ดาวนำเรื่องเสาชิงช้ามาฝาก มาเริ่มศึกษาพร้อมกันเลยค่ะ
ประวัติความเป็นมาของเสาชิงช้า


พราหมณ์นาฬิวัน ชาวเมืองสุโขทัย มีนามว่า พระครูสิทธิชัย (กระต่าย) นำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ว่าการประกอบพิธีตรียัมปวาย อันเป็นประเพณีของพราหมณ์ มีมาแต่โบราณจำเป็นต้องมีการโล้ชิงช้า พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเสาชิงช้าขึ้นตรงหน้าเทวสถาน เมื่อวันพุธ แรม 4 ค่ำ เดือน 5 ปีมะโรงพุทธศักราช 2327 ต่อมาได้สร้างโรงก๊าด (โรงเก็บน้ำมันก๊าด) ขึ้น ณ เทวสถาน จึงย้ายเสาชิงช้ามา ณ ที่ตั้งปัจจุบัน
การสร้างเสาชิงช้าขึ้นก็เพื่อจะรักษาธรรมเนียมการสร้างพระนครตามอย่างโบราณไว้ โดยถือคติว่าจะทำให้พระนครมีความมั่นคงแข็งแรง กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเสาชิงช้าในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 66 ตอนที่ 64 วันที่ 22 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2492 หน้า 5281 เป็น "โบราณวัตถุสถาน" สำคัญของชาติ ประกาศ ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2492 การปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า ได้รับการปฏิสังขรณ์เมื่อพุทธศักราช 2463 มีคำจารึกติดไว้ที่เสาชิงช้า ดังนี้
"ไม้เสาชิงช้าคู่นี้ กับทั้งเสาตะเกียบและทับหลัง เมื่อถึงคราวเปลี่ยนเสาเก่า บริษัท หลุยตีลี โอโนเวนส์ จำกัด ซึ่งทำการค้าไม้ได้ให้ไม้สร้างขึ้นใหม่ เพื่อเป็นที่ระลึกแก่นายหลุยส์โทมัส เลียวโอเวนส์ ซึ่งได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว เป็นผู้ที่เคยเข้ามาตั้งเคหะสถาน อยู่ในประเทศสยามกว่า 50 ปี สาชิงช้านี้ได้สร้างเสร็จ เมื่อวันที่ 12 เมษายน พุทธศักราช 2463"
พุทธศักราช 2490 เกิดไฟไหม้เสาชิงช้า เนื่องจากธูปกราบไหว้ไฟจากธูปตกลงไปในรอยแตก ทำให้คุไหม้เสาขึ้น รัฐบาลครั้งนั้นมีดำริจะรื้อ แต่เมื่อมีเสียงวิพากวิจารณ์มากขึ้นจึงระงับไว้มีคำสั่งให้เทศบาลนครกรุงเทพฯ ซ่อมกระจังไว้ชั่วคราว
พุทธศักราช 2502 กระจังที่เป็นลวดลายได้ผุพังลง จึงมีการเปลี่ยนใหม่และทาสี

พุทธศักราช 2513 สภาพของเสาชิงช้าชำรุดทรุดโทรมมาก ต้องเปลี่ยนเสาใหม่ เพื่อให้มั่นคงแข็งแรงการ ปรับปรุงบูรณะ ได้พยายามรักษาลักษณะเดิมไว้ทุกประการ งานแล้วเสร็จ และได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2515

พิธีโล้เสาชิงช้า
ขณะทำพิธีโล้ชิงช้า ตึกทางซ้ายมือเป็นตึกตลาดเสาชิงช้าที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 รื้อหมดแล้ว กลายเป็นลานหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน
เสาชิงช้าใช้ในพิธีโล้ชิงช้าซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์ เป็นส่วนหนึ่งของพิธีตรียัมปวาย เป็นการต้อนรับพระอิศวรซึ่งเป็นหนึ่งในสามเทพเจ้า ของศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาฮินดูเชื่อกันว่าพระอิศวรจะเสด็จลงสู่โลกในวันขึ้นเจ็ดค่ำเดือนยี่ วันนั้นจะมีการแห่พระเป็นเจ้าไปถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัว
เมื่อพระเป็นเจ้าเสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์ก็ได้เชิญเทวดาองค์อื่น ๆ มาเฝ้าและมาร่วมพิธีด้วย ได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระคงคา และพระธรณี พราหมณ์จะแกะรูปสัญลักษณ์ของเทวดาแต่ละองค์เป็นเทวรูปลงในไม้กระดานสามแผ่น เพื่อทำการบูชาในเทวสถานแล้วจากนั้นจะนำไปปักในหลุมหน้าโรงพิธีนั่งดูโล้ชิงช้า หันหน้ากระดานเข้าหาตำแหน่งที่มีพระยายืนชิงช้านั่ง เรียกว่ากระดานลงหลุม ในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือนยี่
พระราชพิธีตรียัมปวายนี้จะกระทำในเทวสถานสำหรับพระนคร 3 เทวสถาน คือ เทวสถานพระอิศวร เทวสถานพระมหาวิฆเนศวร และเทวสถานพระนารายณ์ โลกบาลทั้งสี่ (พระยายืนชิงช้า และนาลิวัน) จึงต้องโล้ชิงช้าถวายและรับน้ำเทพมนตร์
แต่เดิมนั้นพระราชพิธีตรียัมปวายจะจัดในเดือนอ้าย(ธันวาคม) ครั้นล่วงเข้าสู่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้เปลี่ยนมาจัดในเดือนยี่ (มกราคม) พิธีนี้ถือเป็นพิธีขึ้นปีใหม่ของพราหมณ์ซึ่งในหนึ่งปีพระอิศวรจะเสด็จมาเยี่ยมโลก 10 วัน พราหมณ์จะประชุมที่เทวสถานพระอิศวร แล้วผูกพรตชำระกายสระเกล้าเตรียมรับเสด็จพระอิศวร
ตำนานพิธีตรียัมปวาย
พิธีโล้ชิงช้ามีที่มาจากคัมภีร์เฉลิมไตรภพกล่าวไว้ว่าพระอุมาเทวีทรงมีความปริวิตกว่าโลกจะถึงกาลวิบัติ พระนางจึงทรงพนันกับพระอิศวร โดยให้พญานาคขึงตนระหว่างต้นพุทราที่แม่น้ำ แล้วให้พญานาคแกว่งไกวตัวโดยพระอิศวรทรงยืนขาเดียวในลักษณะไขว่ห้าง เมื่อพญานาคไกวตัว เท้าพระอิศวรไม่ตกลงแสดงว่าโลกที่ทรงสร้างนั้นมั่นคงแข็งแรง พระอิศวรจึงทรงชนะพนัน
ดังนั้นพิธีโล้ชิงช้าจึงเปรียบเสาชิงช้าเป็น'ต้นพุทรา' ช่วงระหว่างเสาคือ'แม่น้ำ' นาลีวันผู้โล้ชิงช้าคือ'พญานาค' โดยมีพระยายืนชิงช้านั่งไขว่ห้างอยู่บนไม้เบญจมาศ
พิธีโล้ชิงช้าซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีได้ยกเลิกไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ปัจจุบันการประกอบพระราชพิธีนี้จะกระทำเป็นการภายในเทวสถานเท่านั้น

14 ตุลามหาวิปโยค


14 ตุลา วันมหาวิปโยค วีรชนคนรุ่นหลังที่ควรจดจำ




40 ปีเต็มที่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ การเรียกร้องประชาธิปไตยของมวลชนนักศึกษาและเหล่าประชาชนยังคงเป็นที่จดจำมาถึงทุกวันนี้ แต่คงมีหลายคนที่เกิดไม่ทันในยุคนั้น ถึงวันนี้วันแห่งประวัติศาสตร์เวียนมาอีกครั้ง สำหรับใครที่เกิดไม่ทัน มาย้อนอดีตพร้อมๆกัน

เหตุการณ์ความกล้าหาญของเหล่าวีรชนที่ยืนหยัดต่อสู้กับอำนาจเผด็จการเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เริ่มมาจากการที่จอมพลถนอม กิตติขจร ทำการรัฐประหารตัวเองในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 โดยนักศึกษาและประชาชนมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจตนเองจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อีกทั้ง จอมพลประภาส จารุเสถียร ต่ออายุราชการให้ตนเอง ประกอบกับข่าวคราวเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นในวงราชการต่าง ๆ สร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่ประชาชน รวมถึงเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2516 เฮลิคอปเตอร์ทหารหมายเลข ทบ.6102 เกิดอุบัติเหตุตกที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม พบซากสัตว์เป็นจำนวนมาก ที่ถูกล่ามาจากทุ่งใหญ่นเรศวรซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวน สร้างกระแสไม่พอใจ และเกิดคำถามในหมู่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก

หลังจากนั้นปลายเดือนพฤษภาคมและต้นเดือนมิถุนายน นิสิตนักศึกษากลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติฯ 4 มหาวิทยาลัยได้ออกหนังสือชื่อ "บันทึกลับจากทุ่งใหญ่" เปิดโปงเกี่ยวกับกรณีนี้ ผลการตอบรับออกมาดีมาก และมีการร่วมกันก่อตั้ง " กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ" จากนั้นเมื่อวันที่ วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2516 สมาชิกของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญถูกตำรวจสันติบาลและนครบาลเข้าจับกุมกลุ่มเรียกร้องได้ 11 คน ทั้งหมดถูกแจ้งข้อหา "มั่วสุมชักชวนให้มีการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน" และจับอดีต ส.ส.อีก 2 คน รวมทั้งหมดเป็น 13 คน ซึ่งถูกเรียกว่า 13 ขบถรัฐธรรมนูญ

วันที่ 9 ตุลาคม นิสิตนักศึกษาหลายสถาบันเริ่มชุมนุม มีมติให้ยื่นหนังสือถึงจอมพล ถนอมให้ปล่อย 13 กบฏ และประกาศประท้วงถึงที่สุด เวลา 20.00 น.

วันที่ 10 ตุลาคม นักเรียนอาชีวะ นิสิต นักศึกษาในกรุงเทพฯ จากหลายสถาบันเริ่มทยอยกันมาชุมนุมที่ลานโพธิ์
จอมพลถนอม กิตติขจร ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นการฉุกเฉินที่ศูนย์ปฏิบัติการทหารบก (ศ.ป.ก.ท.บ.) สวนรื่นฤดี มีมติแต่งตั้งให้จอมพลประภาส จารุเสถียร รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความสงบ

วันที่ 11 ตุลาคม หลังจากชุมนุมโจมตีรัฐบาลมาตลอดทั้งคืน นิสิต นักศึกษา และประชาชนจากทั่วกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงก็ได้ทยอยหลั่งไหลมายังสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดทั้งวัน จนทำให้มีผู้ร่วมชุมนุมกว่า 6 หมื่นคน
ทางด้านฝ่ายเผด็จการ จอมพลถนอม กิตติขจร ได้สั่งให้ทหาร 3 เหล่าทัพ เตรียมพร้อมเพื่อรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น และตำรวจในต่างจังหวัดได้รับคำสั่งให้กักรถที่บรรทุกนักเรียนนักศึกษาต่าง จังหวัดไม่ให้เข้ากรุงเทพฯ

วันที่ 12 ตุลาคม นาย สมบัติ ธำรงค์ธัญญวงศ์เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ในขณะนั้น ได้ประกาศ แถลงการณ์ของศูนย์ มีใจความว่า ให้ปลดปล่อยผู้ต้องหาทั้ง 13 คนภายใน 24 ชั่วโมง ถ้าไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลเป็นที่น่าพอใจ จะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด ซึ่งฝ่ายรัฐบาลได้ประชุมตกลงยอมปล่อยผู้ ต้องหาทั้ง 13 คนได้โดยมีการประกันตัว ส่วนข้อกล่าวหา ว่าเป็นกบฏและคอมมิวนิสต์นั้น ให้ไปต่อสู้กันในชั้นศาล และได้ออกประกาศทางกรมประชาสัมพันธ์

วันที่ 13 ตุลาคม เริ่มต้นเดินขบวนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกไปตามถนนราชดำเนิน สู่ลานพระบรมรูปทรงม้า (คาดกันว่ามีราว 500,000 คน) แกนนำนักศึกษาได้เข้าพบเจรจากับ พลเอกประภาส จารุเสถียรและคณะนายตำรวจระดับผู้ใหญ่ โดยทำสัญญาว่ารัฐบาลจะปล่อยตัวผู้ต้องขังทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข และจะร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จก่อนเดือนตุลาคม 2517 ส่วนทางฝ่ายผู้ชุมนุมก็ต้องหาทางให้ฝูงชนสลายตัวโดยเร็วที่สุดทางด้านนายสมบัติก็แจ้งทางศูนย์ฯเมื่อเวลา 14.45 น.ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักศึกษาจัดตัวแทนเข้าเฝ้าได้

ปัญหาเกิดขึ้นในตอนนี้ที่ แกนนำที่ไปเจรจาและเข้าเฝ้ายังไม่ได้แจ้งข่าวให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่นายเสกสรร ดูแลอยู่ทราบอะไร จึงตัดสินใจเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมาในเวลา 17.30 น.ระหว่างขบวนกำลังเคลื่อนอยู่นั้น กลุ่มที่ได้ทราบประกาศจากกลุ่มที่เข้าเฝ้าว่าทั้ง 13 คนได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข และจะได้รัฐธรรมนูญภายใน ตุลาคม 2517 แต่กระนั้นฝูงชนเริ่มเรียกร้องว่าจะเอารัฐธรรมนูญเร็วกว่านั้น

เช้าตรู่วันที่ 14 ตุลาคม จุดเริ่มต้นของจราจลเริ่มก่อต่อขึ้น เมื่อผู้ชุมนุมประท้วงกำลังแยกย้ายกลับและได้ใช้เส้นทางหน้าพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้ผ่าน ด้วยความที่ไม่เข้าใจกันจึงเกิดการกระทบกระทั่ง การปะทะกันกลายเป็นการจลาจลฝ่ายกลุ่มคนที่ล่วงหน้ากลับไปยังธรรมศาสตร์ได้ข่าวว่าตำรวจตีประชาชนก็โกรธ แค้น หาว่าหักหลัง จึงเรียกให้กลับไปพร้อมที่ธรรมศาสตร์ เหตุการณ์ได้บานปลายลุกลามออกไปอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดไว้ ทหารและตำรวจออกปราบฝูงชนโดยใช้ทั้งอาวุธปืน รถถัง และเฮลิคอปเตอร์ มีการต่อสู้ปะทะกันตลอดสายถนนราชดำเนินตั้งแต่ผ่านฟ้าถึงสนามหลวง
นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ก็เริ่มตอบโต้กลับรุนแรงมากขึ้น มีการยิงและปาระเบิดขวดตอบโต้ทหารตำรวจ ศพวีรชนที่สละชีวิตหลายคนถูกแห่เพื่อเป็นการประจานความทารุณของทหารตำรวจและชักชวนให้ประชาชนไปร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ส่วนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นักศึกษาก็ลำเลียงผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บไปโรงพยาบาลศิริราชทางเรือตลอดเวลา

และในตอนค่ำวันที่ 14 ตุลาคม จอมพลถนอมได้ประกาศลาออก และนายสัญญา ธรรมศักดิ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกแทน แล้วแต่เหตุการณ์ก็ยังไม่สงบ เพราะประชาชนยังไม่วางใจเพราะจอมพลถนอมยังอยู่ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด เหตุการณ์จึงยังไม่สงบโดยกลุ่มทหารได้เปิดฉากยิงเข้าใส่นักศึกษาและประชาชนอีกครั้งหลังจากพระราชดำรัสทางโทรทัศน์เพียงหนึ่งชั่วโมง

วันที่ 15 ตุลาคมเวลา 08.15 น. สถานีวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ก็ได้กระจายเสียงประกาศของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ให้ราชการในกรุงเทพฯ หยุดเป็นเวลา 3 วัน โดยเหตุการณ์ยังคงตึงเครียด ทหารส่งกำลังเข้ามาเสริมตามจุดต่าง ๆ ที่มีการจลาจล ส่วนทางเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วกรุงเทพฯ ไม่ได้ออกปฏิบัติหน้าที่ แต่ตั้งรับอยู่ในแต่ละสถานีโดยไม่ได้สวมเครื่องแบบตำรวจ หลายโรงพักถูกปล่อยร้าง
ซึ่งในตอนหัวค่ำ ได้มีประกาศว่า จอมพลประภาส พ.อ. ณรงค์และบริวารได้เดินทางออกนอกประเทศไปยังไทเป ส่วนจอมพลถนอม และครอบครัว เดินทางไปขอลี้ภัยในสหรัฐอเมริกาในคืนถัดมา เหตุการณ์จึงค่อยสงบลง

วันที่ 16 ตุลาคม ผู้ชุมนุมและประชาชนต่างพากันช่วยทำความสะอาดพื้นถนนและสถานที่ต่าง ๆ ที่ได้รับความเสียหาย ที่ทำเนียบรัฐบาล คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ได้ประชุมเป็นครั้งแรกเมื่อเวลา 17.30 น. โดยมีมติให้ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ชุมนุมระหว่างวันที่ 14-15 ตุลาคม 2516 และมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่
คณะรัฐมนตรี มีมติให้ก่อสร้าง อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ขึ้นที่ สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง โดยกว่าจะผ่านกระบวนต่าง ๆ และสร้างจนแล้วเสร็จนั้น ต้องใช้เวลาถึง 28 ปี


หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นประเทศไทยก็ได้เปลี่ยนการปกครองจากอำนาจเผด็จการทางทหารที่กินระยะเวลามานานถึง 16 ปี ไปสู่มือนักการเมือง ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ถึงแม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะผ่านมากว่า 40 ปีแล้ว ก็ยังสามารถเป็นบทเรียนได้ในสังคมยุคปัจจุบันที่เราก็ยังมีการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มต่างๆ ซึ่งเรายังจะติดอยู่กับวังวลเดิมๆ หรือ ประชาธิปไตยจะกว้าหน้า คงต้องขึ้นอยู่กับประชาชนชาวไทยทั้งหลายแล้วล่ะว่าเราจะใช้อำนาจที่พึงมีให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไรต่อประเทศชาติ



                      

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ



เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535
ลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ถึง พ.ศ. 2535
พ.ศ. 2534
23 กุมภาพันธ์ - คณะ รสช.ยึดอำนาจจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
พ.ศ. 2535
22 มีนาคม - มีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ พรรคสามัคคีธรรม ของนายณรงค์ วงศ์วรรณ ได้รับเลือกตั้งมาเป็นลำดับหนึ่ง แต่ถูกขึ้นบัญชีดำผู้ค้ายาเสพย์ติดจากสหรัฐอเมริกา
7 เมษายน - พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
8 เมษายน - ร.ต.ฉลาด วรฉัตร เริ่มอดอาหารประท้วงวันแรก
17 เมษายน - มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่
20 เมษายน - พรรคฝ่ายค้านเริ่มการปราศรัยที่ลานพระบรมรูปทรงม้ามีผู้ร่วมชุมนุมเกือบ100,000คน
4 พฤษภาคม - พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เริ่มอดอาหารและน้ำประท้วงวันแรก
7 พฤษภาคม - พล.อ.สุจินดา แถลงนโยบายต่อรัฐสภา แต่พรรคฝ่ายค้านไม่เข้าร่วม ขณะเดียวกันบริเวณหน้ารัฐสภามีผู้ชุมนุมร่วมประท้วง จนต้องมีการปิดประชุมโดยกระทันหัน
8 พฤษภาคม - พล.อ.สุจินดา แถลงถึงเหตุผลที่ต้องมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
9 พฤษภาคม - นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานรัฐสภาประสานให้พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านร่วมกันตกลงว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญบางประการ และ พล.ต.จำลอง ประกาศเลิกอดอาหาร
11 พฤษภาคม - พล.ต.จำลอง ประกาศสลายการชุมนุมและประกาศชุมนุมใหม่อีกครั้งในวันที่ 17 พฤษภาคม หากในวันที่ 15 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันที่พรรคร่วมรัฐบาลให้สัญญาว่าจะแถลงถึงเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีความคืบหน้า
15 พฤษภาคม - พรรคร่วมรัฐบาลเปลี่ยนท่าทีเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าเป็นการให้สัมภาษณ์โดยพลการของ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยอ้างว่าจะแก้ให้มีบทเฉพาะกาล ว่า นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่ง พล.อ.สุจินดา ต้องดำรงตำแหน่งจนครบวาระ 4 ปี เสียก่อน
17 พฤษภาคม - รัฐบาลจัดคอนเสิร์ตต้านภัยแล้งสกัดม็อบที่สนามกีฬากองทัพบกและวงเวียนใหญ่ โดยขนรถสุขาของกรุงเทพ ฯ มาไว้ที่นี่หมด ช่วงเที่ยงคืนเริ่มเกิดการตำรวจปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกับตำต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 18 พฤษภาคม
18 พฤษภาคม - ก่อนรุ่งสาง รัฐบาลเริ่มนำทหารจัดการกับผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เวลาบ่าย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และผู้ชุมนุมบางส่วนถูกจับกุม
19 พฤษภาคม - กลุ่มผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ถูกจับกุมย้ายสถานที่ชุมนุมไปที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง
20 พฤษภาคม - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้ผู้นำทั้งสองฝ่าย คือ พล.อ.สุจินดา และ พล.ต.จำลอง เข้าเฝ้า โดยผู้ที่นำเข้าเฝ้าคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
24 พฤษภาคม - พล.อ.สุจินดา และ พล.ต.จำลอง แถลงการณ์ร่วมกันผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยและ พล.อ.สุจินดา ลาออกจากตำแหน่ง
10 มิถุนายน - แกนนำจัดตั้งรัฐบาลเสนอชื่อ พลอากาศเอกสมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย เป็นนายกรัฐมนตรี แต่นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ รองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร และรักษาการประธานรัฐสภา ตัดสินใจนำชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ ให้ กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

13 กันยายน - มีการเลือกตั้งใหญ่ทั่วทั้งประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ได้รับคะแนนเสียงมาเป็นลำดับหนึ่ง นายชวน หลีกภัย ได้เป็นนายกรัฐมนตรี




อาถรรพ์ ขุมทรัพย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช | สองยาม

 อาถรรพ์ ขุมทรัพย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช | สองยาม

เรื่องนี้มีหลักฐานและถูกเล่าขานกันนานแล้ว เป็นเรื่องจริงจากคำบอกเล่าของพระธุดงค์หลายรูป ที่เล่าตรงกันเกี่ยวกับขุมทรัพย์โบราณมูลค่ามหาศาลภายใน "วัดป่าแก้ว" หรือ วัดใหญ่ชัยมงคล จ.พระนครศรีอยุธยา วัดนี้ตามประวัติกล่าวไว้ว่า เดิมเป็นวัดราษฎร์เรียกกันว่าวัดป่า ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกับวัดสำคัญประจำนครอโยธยาเดิมคือวัดพนัญเชิง วัดมเหยงค์ วัดกุฎีดาว และวัดอโยธยา ครั้งถึงแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ได้ทรงให้ขุดศพเจ้าแก้วเจ้งไท เชื้อพระวงศ์ที่เป็นอหิวาตกโรคตาย ขึ้นพระราชทานเพลิงที่วัดนี้แล้วทรงซ่อมแซมบูรณะเจดีย์วิหาร ก่อนจะทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า "วัดเจ้าพญาไท" ให้เป็นที่พำนักของพระพนรัต ซึ่งเป็นพระสังฆราชฝ่ายอรัญวาสี และด้วยอาณาเขตของวัดที่กว้างใหญ่ ชาวบ้านจึงนิยมเรียกชื่อ "วัดใหญ่" ตั้งแต่นั้นมา ...



สงครามเก้าทัพ


สวัสดีค่ะทุกคนวันนี้ดาวเรืองมีสิ่งดีๆมานำเสนออีกเช่นเคยแต่วันนี้เรามาในรูปของสงครามค่ะสงครามเก้าทัพด้วยว่าแต่จะเป็นยังไงนั้นมาศึกษาพร้อมกันเลยค่ะ

สงครามเก้าทัพ ศึกชี้ชะตาแห่งสยามประเทศ
หลังจากที่กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ ราชธานีแห่งใหม่ของชนชาติไทยก่อกำเนิดขึ้นมาได้เพียงสามปี ราชอาณาจักรแห่งนี้ก็ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ จากมหาสงครามที่จะชี้ชะตาถึงอนาคตของแผ่นดินแห่งนี้ว่าจะยังคงดำรงอยู่ต่อไปหรือต้องล่มสลายลงโดยมหาสงครามครั้งนี้ ถูกเรียกขานว่า สงครามเก้าทัพ
ในปีพุทธศักราช 2319 พระเจ้าช้างเผือกมังระ กษัตริย์พม่าแห่งอาณาจักรอังวะได้เสด็จสวรรคตลง จิงกูจาโอรส องค์ใหญ่ของพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากสมเด็จพระราชบิดา หลังครองราชย์ พระเจ้าจิงกูจาได้สั่งปลดอะแซหวุ่นกี้ออกจากตำแหน่งและสั่งประหารพระอนุชาของพระองค์ ส่วนบรรดาพระอนุชาของพระเจ้ามังระนั้น พระองค์ได้มีบัญชาให้นำไปกักตัวไว้
พระเจ้าจิงกูจาทรงมีพระทัยโหดร้าย ชอบแต่เสวยสุรายาเมาและหลังเสพสุราก็มักทรงกระทำการทารุณต่าง ๆ อยู่เสมอ วันหนึ่ง พระองค์ได้ทรงมีรับสั่งให้นำเอาพระสนมเอกคนโปรดซึ่งเป็นบุตรของอะตวนหวุ่นไปประหารชีวิตด้วยการถ่วงน้ำและรับสั่งให้ถอดบิดานางลงเป็นไพร่ ทำให้อะตวนหวุ่นโกรธแค้นมาก จึงไปสมคบกับอะแซหวุ่นกี้และตะแคงปดุง (มังแวง) พระอนุชาของพระเจ้ามังระ ฉวยโอกาสที่พระเจ้าจิงกูจาเสด็จออกประพาสหัวเมืองก่อการกบฎและยกเอา มังหม่อง ผู้เป็นโอรสของพระเจ้ามังลอกพระเชษฐาของพระเจ้ามังระขึ้นครองราชบัลลังก์
ทว่าหลังจากนั้นมังหม่องกลับควบคุมสถานการณ์ไว้มิได้ โดยปล่อยให้บรรดาโจรป่าที่เป็นสมัครพรรคพวกของพระองค์ทำการปล้นสะดมภ์ผู้คนจนเกิดความวุ่นวายไปทั่วกรุงรัตนปุระอังวะ ในที่สุดหลังจากที่มังหม่องนั่งเมืองได้เพียงสิบเอ็ดวัน ตะแคงปดุงจึงได้ร่วมกับเหล่าเสนาอำมาตย์จับตัวมังหม่องสำเร็จโทษเสีย จากนั้นจึงได้ขึ้นครองราชสมบัติกรุงอังวะแทน ทรงมีพระนามว่า พระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าช้างเผือก แต่เป็นที่รู้จักในพระราชพงศาวดารของไทยในพระนาม พระเจ้าปดุง หรือที่ในภาษาพม่าเรียกว่า พระเจ้าโบดอพญา

แผนที่เมืองหลวงของประเทศพม่า ในสมัยของพระเจ้าปดุง
ในเวลานั้น พระเจ้าจิงกูจาได้ทรงทราบว่าเกิดกบฏขึ้นในกรุงอังวะ จึงคิดจะทรงหลบหนีไปยังเมืองกะแซ แต่ด้วยความเป็นห่วงพระราชชนนีจึงลอบมาใกล้กรุงอังวะและส่งหนังสือเข้าไปทูลแจ้งว่าจะทรงหลบหนีไปอยู่เมืองกะแซ แต่พระราชชนนีทรงห้ามปรามว่า ธรรมดาเมื่อเกิดเป็นกษัตริย์แล้ว หากแม้นจะต้องตายก็ควรตายในเมืองของตัว หาควรหนีไปพึ่งเมืองน้อยอันเคยเป็นข้าไม่ ทำให้พระองค์ทรงเกิดมีขัตติยะมานะและเสด็จนำข้าหลวงที่มีอยู่กลับเข้าเมือง พวกทหารที่เฝ้าอยู่ เห็นพระเจ้าจิงกูจาเสด็จมาอย่างอาจหาญก็เกิดความเกรงกลัวไม่กล้าจับกุม ฝ่ายอะตวนหวุ่นซึ่งมีความเจ็บแค้นที่พระสนมเอกบุตรสาวของตนถูกพระเจ้าจิงกูจาสั่งประหารได้ทราบเข้า จึงนำคนมาล้อมจับและได้ฟันพระองค์สิ้นพระชนม์ที่ในเขตพระราชฐาน
เมื่อพระเจ้าปดุงทรงทราบความก็ทรงพระพิโรธว่า อะตวนหวุ่นทำการโดยพลการ สังหารพระเจ้าจิงกูจาแทนที่จะจับมาถวายพระองค์ จึงทรงให้เอาตัวอะตวนหวุ่นไปประหารเสีย
ในขณะที่เกิดเหตุแย่งชิงราชบัลลังก์กันในกรุงอังวะนั้น บรรดาเมืองขึ้นต่าง ๆ ของกรุงอังวะได้ถือโอกาสแข็งเมืองจนถึงกับมีบางหัวเมืองที่บังอาจคุมพลยกไปปล้นกรุงอังวะอันเป็นราชธานีก็มี พระเจ้าปดุงจึงได้ทรงยกทัพไปโจมตีหัวเมืองต่าง ๆ ที่แข็งข้อได้จนหมดสิ้น จากนั้นได้ทรงโปรดฯ ให้สร้างราชธานีแห่งใหม่ ชื่อว่า กรุงอมรปุระและเริ่มทำสงครามกับประเทศใกล้เคียงเพื่อแผ่ขยายพระราชอำนาจ
ล่วงถึงปีพุทธศักราช 2328 หลังจากทรงได้รับชัยชนะเหนืออาณาจักรยะข่ายทางทิศตะวันตกและแคว้นมณีปุระทางทิศเหนือ พระเจ้าปดุงก็หมายพระทัยจะแผ่พระบรมเดชานุภาพของพระองค์ให้เป็นที่ประจักษ์ยิ่งขึ้นไปอีก โดยในเวลานั้น พระองค์ได้ทรงทราบมาว่า ไทยเพิ่งจะตั้งราชธานีใหม่ นามว่า กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์

พระเจ้าปดุงจึงทรงหมายจะทำลายกรุงรัตนโกสินทร์และพิชิตชนชาติไทยไว้ในพระราชอำนาจเฉกเช่นดังพระเจ้าช้างเผือกสิบทิศบุเรงนองในอดีตและพระเจ้ามังระผู้เป็นพระเชษฐาของพระองค์
ทั้งนี้ เพื่อให้ทรงบรรลุพระประสงค์ พระเจ้าปดุงได้ทรงเกณฑ์รี้พลจากทุกชาติทุกภาษาในราชอาณาจักรทั้ง พม่า มอญ เงี้ยว ยะข่าย มณีปุระและชนชาติอื่น ๆ รวมทั้งสิ้นหนึ่งแสนสี่หมื่นสี่พันคน จัดเป็นทัพทั้งหมดเก้ากองทัพ โดยกำหนดแผนให้เข้าโจมตีไทยจากห้าเส้นทางพร้อมกัน ดังนี้
ทัพที่หนึ่ง มีพลรบหนึ่งหมื่น ม้าศึกหนึ่งพัน กำหนดให้ยกเข้าทางด่านสิงขร เมืองมะริด มีพลหนึ่งหมื่นแบ่งเป็นทัพบก ทัพเรือ ทัพบกให้แมงยีแมงข่องกยอเป็นแม่ทัพ ถือพลเจ็ดพัน เข้าตีหัวเมืองฝ่ายใต้ทางบกของไทย ตั้งแต่ชุมพร เรื่อยไปถึงสงขลา ส่วนทัพเรือให้ยี่หวุ่นเป็นแม่ทัพ ถือพลสามพัน กำปั่นรบ 15 ลำ  เข้าตีหัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันตกของไทยตั้งแต่ตะกั่วป่าไปจนถึงเมืองถลาง
ทัพที่สอง ให้อนอกแฝกคิดหวุ่น (อะ-นอ-กะ-แฝก-คิด-หวุ่น) เป็นแม่ทัพ ถือพลรบหนึ่งหมื่น ม้าศึกหนึ่งพัน โดยยกเข้าทางด่านบ้องตี้ เข้าตีราชบุรี เพชรบุรี จากนั้นให้ไปบรรจบกับทัพที่หนึ่งที่เมืองชุมพร
ทัพที่สาม ให้หวุ่นคะยีสะโดศิริมหาอุจจนา เจ้าเมืองตองอู เป็นแม่ทัพ ถือพลรบสามหมื่น ม้าศึกสามพันให้ยกเข้าทางเชียงใหม่ ให้ตี นตรลำปาง สวรรคโลก สุโขทัย พิษณุโลก จากนั้นให้ยกลงมาสมทบกับทัพหลวงที่กรุงเทพ
สำหรับกองทัพที่สี่, ห้า, หก, เจ็ด และแปดนั้นจะเข้าตีกรุงเทพโดยตรง มีพลรวมทั้งสิ้นแปดหมื่นเก้าพัน โดยแบ่งออกเป็น
ทัพที่สี่ ให้เมียนหวุ่นแมงยีมหาทิมข่อง เป็นแม่ทัพ ถือพลหนึ่งหมื่นหนึ่งพัน ม้าศึกหนึ่งพันหนึ่งร้อย เป็นทัพหน้าเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์
 ทัพที่ห้า ให้เมียนเมหวุ่นเป็นแม่ทัพถือพลรบห้าพันม้าศึกห้าร้อยเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ คอยหนุนทัพที่สี่
ทัพที่หก ให้ศิริธรรมราชา ราชบุตรองค์ที่สอง เป็นแม่ทัพ ถือพลรบหนึ่งหมื่นสองพัน ม้าศึกหนึ่งพันสองร้อย เป็นทัพหน้าที่หนึ่งของทัพหลวง ยกเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์
ทัพที่เจ็ด ให้สะโตทันซอ ราชบุตรองค์ที่สาม เป็นแม่ทัพถือพลรบหนึ่งหมื่นหนึ่งพัน ม้าศึกหนึ่งพันหนึ่งร้อย  เป็นทัพหน้าที่สองของทัพหลวง ยกเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์
ทัพที่แปด ทัพหลวง มีพระเจ้าปดุงทรงเป็นจอมทัพ ถือพลห้าหมื่น ม้าศึกห้าพัน ช้างรบห้าร้อย ยกเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์
ส่วนทัพที่เก้าซึ่งเป็นกองทัพสุดท้าย นั้น ให้จอข่องนรธา เป็นแม่ทัพถือพลห้าพัน ม้าศึกห้าร้อย ยกเข้าทางด่านแม่ละเมา ตีเมืองตาก กำแพงเพชร จากนั้นให้ลงมาบรรจบกับทัพหลวงที่กรุงเทพ
ในประวัติศาสตร์ไทยเรียกสงครามครั้งนี้ว่า สงครามเก้าทัพ
หลังจากระดมไพร่พลแล้ว ฝ่ายอังวะได้มาประชุมพลที่เมืองเมาะตะมะ ทว่าไม่อาจเคลื่อนทัพต่อ เนื่องจาก เสบียงไม่เพียงพอ พระเจ้าปดุงทรงพิโรธแมงยีแมงข่องกยอ แม่ทัพที่หนึ่ง ซึ่งพระองค์มีพระบัญชาให้ไประดมเสบียงมาส่งให้กองทัพ แต่ แมงยีแมงข่องกยอ กลับหาเสบียงได้ล่าช้า ทำให้เสียเวลาเคลื่อนทัพ พระเจ้าปดุงจึงให้ประหารแมงยีแมงข่องกยอเสีย และให้ เกงหวุ่น แมงยี มหาสีหสุระ รั้งตำแหน่งแม่ทัพที่หนึ่งแทน จากนั้นก็ทรงเร่งให้กองทัพทั้งหมดเคลื่อนพลเข้าสู่เขตแดนไทย




สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ทางฝ่ายไทย หลังจากที่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงทราบว่า พม่ากำลังยกทัพมาทำสงคราม พระองค์ก็ทรงโปรดฯ ให้เกณฑ์ไพร่พลเพื่อรับศึก ทว่ากำลังรี้พลของฝ่ายไทยในเวลานั้นมีเพียงเจ็ดหมื่นหรือเพียงครึ่งของทัพข้าศึกเท่านั้น
สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเห็นว่า หากปล่อยให้ข้าศึกยกเข้ามาถึงพระนครจะไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายไทย จึงทรงโปรดฯให้จัดทัพไปตั้งรับศึกที่นอกเมือง แต่เนื่องจากฝ่ายไทยมีกำลังน้อยกว่า สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงตัดสินพระทัยที่จะรับศึกในทางที่สำคัญก่อน โดยทรงมีพระบัญชาให้จัดกำลังพลดังนี้
ทัพที่หนึ่ง มีสมเด็จพระอนุชาของพระองค์ คือ สมเด็จวังหน้า พระมหาอุปราชกรมพระราชบวรมหาสุรสิงหนาท เป็นแม่ทัพคุมไพร่พล 30,000 นาย ยกไปตั้งทัพยังทุ่งลาดหญ้า เมืองกาญจนบุรี เพื่อต้านทานข้าศึกที่เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์
ทัพที่สอง สมเด็จวังหลัง พระเจ้าหลานเธอกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศน์  คุมไพร่พล 15,000 นาย ยกขึ้นเหนือไปตั้งรับข้าศึกที่มาจากเชียงแสนและทางด่านแม่ละเมา
ทัพที่สาม มีพล 5,000 นาย ให้ เจ้าพระยาธรรมมาและพระยายมราชเป็นแม่ทัพยกไปตั้งมั่นยังราชบุรีเพื่อสกัดทัพข้าศึกที่จะเข้ามาทางด่านบองตี้ ส่วนสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงคุมทัพที่สี่ ซึ่งมีไพร่พล 20,000 นาย ตั้งมั่นยังพระนครเพื่อคอยหนุนช่วยกองทัพอื่น ๆ
ในการรบที่ลาดหญ้า  สมเด็จวังหน้าทรงให้ ออกญามหาโยธาคุมทหารมอญ 3,000 คนเป็นกองหน้าไปตั้งสกัดข้าศึกที่ด่านกรามช้าง ส่วนทัพใหญ่ตั้งค่ายมั่นที่ทุ่งลาดหญ้าตรงช่องสะเดาใกล้กับเขาชนไก่ และยังทรงให้ตั้งค่ายอีกค่ายหนึ่งที่ปากแพรก (ปัจจุบันคือ ตัวเมืองกาญจนบุรี)
ทุ่งลาดหญ้าในยามนั้น กองทัพที่ 4 และ 5 ของอังวะซึ่งมีรี้พลรวม 16,000 นาย สามารถตีด่านกรามช้างแตกและรุกไล่ทัพมอญมาจนถึงทุ่งลาดหญ้า จนเข้าปะทะกับกองทัพไทย ในการรบกันครั้งแรก ฝ่ายไทยสามารถตีข้าศึกถอยร่นไปได้และล้อมจับทหารอังวะได้กองหนึ่งพร้อมนายทัพชื่อ กุลาหวุ่นเมื่อเห็นว่า กำลังข้างไทยเข้มแข็งนัก เมหวุ่น และเหมียนหวุ่นจึงให้ตั้งค่ายมั่นตรงเชิงเขาประจัญหน้ากับฝ่ายไทยเพื่อรอกำลังหนุนจากกองทัพที่หก เจ็ดและแปด ซึ่งยกติดตามมาจากเมาะตะมะ โดยระหว่างนั้น ฝ่ายพม่าได้สร้างหอรบบรรทุกปืนใหญ่ใช้ระดมยิงค่ายไทยสังหารไพร่พลไปเป็นจำนวนมาก สมเด็จวังหน้าทรงแก้สถานการณ์โดยให้นำท่อนไม้มาทำเป็นลูกปืนบรรจุในปืนใหญ่ชนิดปากกระบอกกว้างยิงใส่หอรบข้าศึกพังพินาศ จนฝ่ายอังวะไม่กล้าออกมานอกค่ายอีก
เพื่อตัดเส้นทางลำเลียงเสบียงของข้าศึก สมเด็จวังหน้าจึงทรงให้ ออกญาสีหราชเดโช ออกญาท้ายน้ำ และออกญาเพชรบุรีคุมไพร่พล 500 นาย เป็นกองโจรไปดักปล้นเสบียงพม่า ทว่าทั้งสามกลับหวาดกลัวข้าศึกและหลีกหนีหน้าที่ สมเด็จวังหน้าจึงทรงให้ประหารชีวิตเสียและให้เจ้าขุนเณร ซึ่งเป็นพระอนุชาต่างมารดาของกรมหลวงอนุรักษ์เทเวศน์คุมกำลังนักรบกองโจรแทนกองโจรของเจ้าขุนเณรปล้นทำลายเสบียงพม่าได้เป็นอันมาก โดยครั้งหนึ่งฝ่ายอังวะได้ลำเลียงเสบียงเป็นการใหญ่ เพื่อป้องกันการถูกปล้น โดยใช้ช้างศึก 60 เชือกขนเสบียงและมีไพร่พลคุมกันหลายร้อยคน ทว่าก็ยังถูกกองโจรของเจ้าขุนเณรปล้นชิงและทำลายได้จนหมดสิ้น

กองโจรเจ้าขุนเณรดักปล้นเสบียงพม่า
นอกจากส่งกองโจรปล้นเสบียงแล้ว สมเด็จวังหน้ายังให้ออกญาจ่าแสนยากรคุมไพร่พล 10,000 นาย ลอบออกจากค่ายในยามดึกและแต่งขบวนเดินกลับเข้ามาใหม่ในยามเช้า โดยให้ทำเช่นนี้สามสี่ครั้ง เพื่อลวงให้ข้าศึกคิดว่าฝ่ายไทยมีกำลังมาหนุนเพิ่มเติม ทำให้ขวัญกำลังใจของฝ่ายอังวะเสื่อมถอยลงเรื่อย ๆระหว่างที่ทัพไทยยังตั้งมั่นเผชิญหน้าข้าศึกที่ลาดหญ้าอยู่นั้น สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงเป็นห่วงเนื่องจากไม่ได้ข่าวเป็นเวลานับเดือน จึงเสด็จนำทัพมาหนุนยังลาดหญ้า ครั้นเมื่อสมเด็จวังหน้ากราบทูลสถานการณ์ให้ทรงทราบ จึงสิ้นห่วงและเสด็จนำทัพกลับพระนคร

ในที่สุดหลังจากตั้งมั่นมาได้สามเดือน กองทัพอังวะที่ช่องสะเดาก็ขาดแคลนเสบียงอาหาร ขณะที่กองทัพอื่น ๆ ซึ่งยกตามมา ก็ประสบปัญหาเดียวกัน จนทำให้การเคลื่อนพลต่อไม่อาจทำได้ การขาดแคลนเสบียงทำให้ทหารอังวะเจ็บป่วยล้มตายลงเป็นอันมาก สุดท้าย เมื่อทรงเห็นว่าสถานการณ์ไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายตน พระเจ้าปดุงจึงมีรับสั่งให้ถอนทัพหลวงกลับไปตั้งมั่นยังเมาะตะมะ

ข่าวทัพหลวงอังวะถอยทัพรู้ถึงฝ่ายไทยอย่างรวดเร็ว สมเด็จวังหน้าจึงทรงนำทัพไทยเข้าตีค่ายพม่าที่ลาดหญ้าเพื่อทำลายข้าศึกให้สิ้นซาก หลังการรบอันดุเดือด ฝ่ายไทยก็ตีค่ายพม่าได้ทั้งหมด สังหารข้าศึกได้ถึงหกพันคน และจับเป็นเชลยได้อีกหลายพันคน ทำให้กองทัพพม่าที่เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์แตกพ่ายและล่าถอยไปจนหมดสิ้น
หลังจากได้ชัยชนะที่ทุ่งลาดหญ้าแล้ว สมเด็จวังหน้าได้เสด็จนำทัพกลับพระนคร ระหว่างทางได้ปะทะกับทัพที่สองของอังวะที่เข้ามาทางด่านบ้องตี้จนล่วงเข้าใกล้เมืองราชบุรีและตีข้าศึกแตกพ่ายไป สมเด็จวังหน้าได้ลงโทษปลดเจ้าพระยาธรรมาและออกญายมราชออกจากตำแหน่ง ในฐานที่ละเลยหน้าที่จนปล่อยให้ข้าศึกยกเข้ามาจนเกือบประชิดเมืองราชบุรีโดยมิได้ระแคะระคาย
ชัยชนะเหนือกองทัพข้าศึกทางด่านเจดีย์สามองค์และด่านบ้องตี้ ทำให้ฝ่ายไทยมีกำลังพลพอไปจัดการกับข้าศึกทางด่านอื่น สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงให้สมเด็จวังหน้านำทัพสองหมื่นลงใต้ไปปราบปรามทัพอังวะที่เข้ามาทางด่านสิงขร ส่วนพระองค์ยกพลสองหมื่นขึ้นไปปราบปรามข้าศึกทางเหนือ
พญากาวิละ

โดยในเวลานั้นทางภาคเหนือ ทัพของเจ้าเมืองตองอูที่ยกมาจากเชียงแสนได้เข้าตีเมืองลำปางของพญากาวิละแต่ไม่อาจเอาชนะได้ จึงตั้งทัพล้อมเมืองไว้ และแบ่งกำลังพล 5,000 ยกลงมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือได้ทั้งหมดก่อนจะมาตั้งค่ายมั่นที่ปากพิง เมืองพิษณุโลก ส่วนทัพที่เก้าของจอข่องนรทาได้ยึดเมืองตากไว้ได้และตั้งค่ายมั่นรอสมทบกับทัพใหญ่ของเจ้าเมืองตองอูอยู่ที่นั่น
ต่อมา หลังจากที่กองทัพของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมาถึงเมืองพิจิตรก็ทรงให้ข้าหลวงถือสาส์นไปเร่งให้กรมพระราชวังหลัง เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศน์เร่งนำทัพเข้าตีทัพอังวะซึ่งมาตั้งที่ปากพิง เมืองพิษณุโลกจนแตกพ่าย สังหารข้าศึกได้กว่า 800 นาย จนศพลอยเต็มแม่น้ำ

ขณะเดียวกันทัพที่เก้าของฝ่ายอังวะที่เข้ามาทางด่านแม่ละเมาและยึดเมืองตากเอาไว้ได้นั้น เมื่อทราบข่าวค่ายปากพิงแตกแล้วก็เกิดหวาดเกรงจึงล่าถอยออกไป จากนั้นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงให้กรมหลวงจักรเจษฎาและกรมพระราชวังหลังยกทัพไปตีทัพหลวงของกองทัพที่สามของอังวะที่ล้อมเมืองลำปางอยู่ โดยมีพญากาวิละคอยต่อสู้ป้องกันเมืองจากกองทัพพม่าอย่างเข้มแข็ง ครั้นเมื่อทัพจากพระนครยกไปถึง พญากาวิละก็ระดมไพร่พลยกออกมาช่วยทัพกรุงตีกระหนาบทัพพม่าจนฝ่ายข้าศึกต้องแตกพ่ายล่าถอยกลับไปยังเมืองเชียงแสน


อนุสาวรีย์ คุณหญิงจันและนางมุก
 ส่วนทางใต้ กองทัพเรือของอังวะซึ่งมีไพร่พล 3,000 นาย ได้เข้าตีเมืองตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่งได้ และยกมาตีเมืองถลาง แต่ถูก คุณหญิงจัน ภริยาม่ายของเจ้าเมืองถลาง และนางมุกผู้เป็นน้องสาวรวบรวมชาวบ้านทั้งหญิงชายต่อต้านจนทัพอังวะต้องล่าถอยกลับไป

 ขณะที่ทางด้านทัพบกของอังวะได้ใช้กลอุบายจนยึดเมืองนครศรีธรรมราชได้ ทว่าเมื่อเกงหวุ่น แม่ทัพที่หนึ่งของอังวะ ทราบว่าทัพของสมเด็จวังหน้าได้ยกลงมาจากกรุงเทพ ฝ่ายอังวะก็ได้ส่งทัพมาตั้งรับที่เมืองไชยา ทั้งสองฝ่ายเข้าปะทะกันอย่างดุเดือด ก่อนที่ฝ่ายไทยจะตีทัพพม่าแตกพ่ายไปได้ เกงหวุ่นจึงให้ถอยทัพกลับไปทางด่านสิงขร และเป็นอันสิ้นสุดสงครามเก้าทัพลง
อย่างไรก็ตาม พระเจ้าปดุงยังมิได้ทรงยอมแพ้และได้ส่งกองทัพมาตีไทยอีกครั้งในปีพุทธศักราช 2329  แต่ก็แตกพ่ายไปที่ท่าดินแดงและสามสบ เขตเมืองกาญจนบุรี จากนั้นพระองค์ยังทำสงครามกับฝ่ายไทยอีกหลายครั้งแต่ก็พ่ายแพ้ไปทุกครั้ง จนฝ่ายพม่าสิ้นความพยายามที่จะเอาชนะไทยอีก และราชอาณาจักรไทยก็สามารถอยู่ยั้งยืนมาได้นับแต่นั้นจนถึงทุกวันนี้